นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 65 จะขยายตัวที่ 2.9% ลดลงจากประมาณการเดิม (ธ.ค. 64) ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.9% โดยมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 65 จะฟื้นตัวได้ดีขึ้น จากแรงกระตุ้นของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เท่ากับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงไตรมาส 4/65
โดยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยประมาณ 6 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 15 ล้านคนในปี 66 ก่อนจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคนในปี 67
พร้อมประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 66 จะขยายตัวที่ระดับ 4.3% และปี 67 ขยายตัวที่ระดับ 3.9%
“ในไตรมาส 1/65 เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4/64 แต่เริ่มเห็นการชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 และเป็นการฟื้นตัวที่ช้ากว่าเพื่อนบ้าน จากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลทำให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น โดยสาเหตุที่ทำให้ไทยได้รับผลกระทบแรง เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการนำเข้าพลังงานค่อนข้างมาก ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนมีการส่งออกพลังงาน เช่น สปป.ลาว อินโดนีเซีย แต่ไทยพึ่งพาการนำเข้าพลังงานถึง 6% ของ GDP จึงอ่อนไหวต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอย่างมาก”
นายเกียรติพงศ์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 65 คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น จากแรงกระตุ้นเกี่ยวกับการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังจากมีการผ่อนคลายข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
ขณะที่ความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ส่วนหนึ่งมาจากความเสี่ยงของโควิด-19 ที่อาจจะกลับมาระบาดอีกระลอก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว โดยเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวถึง 12% ต่อ GDP ดังนั้นประเทศไทยควรเตรียมความพร้อมด้วยการลงทุนด้านระบบสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันสถานะด้านสาธารณสุขของไทยจะแข็งแกร่งแล้ว แต่ก็ยังมีบางจุดที่ต้องพัฒนา โดยเฉพาะจำนวนแพทย์ต่อจำนวนประชากร ซึ่งหากพัฒนาตรงนี้ได้ก็จะรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายจากทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยในเดือน พ.ค. อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 7.1% ทะลุกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% ไปแล้ว และเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 13 ปี ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลต่อระดับราคาสินค้า แต่เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ายังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มพลังงานและอาหาร ไม่ได้ปรับขึ้นในทุกหมวดสินค้า
ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อจึงไม่ได้เป็นแบบยั่งยืน จะค่อย ๆ ลดระดับลงมาอยู่ที่ 2.2% ในปี 66 จากปีนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 5.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.3% ตามคาดการณ์ราคาน้ำมันในประเทศที่จะยังคงสูงขึ้นจนถึงปี 67 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบกับครัวเรือนยากจนเป็นหลัก ทำให้มีค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารและน้ำมันเยอะขึ้น โดยมีการประเมินว่าหากมีการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและน้ำมัน 10% จะส่งผลให้ครัวเรือนมีความยากจนมากขึ้น 1.5 เท่า
“เงินเฟ้อคือความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทย แต่ยังอยู่ในระดับที่ยังรับมือได้ เนื่องจากว่าไทยมีเครื่องมือทางการคลังเพียงพอที่จะรับมือ แต่ที่ผ่านมาวิธีรับมือกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นของไทย คือ การควบคุมราคาสินค้า ซึ่งมีผลระดับหนึ่ง แต่มองว่าไม่ใช่มาตรการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และไม่ได้ยั่งยืน เพราะไม่ได้มีการจัดสรรมาตรการให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับประโยชน์ จึงควรพิจารณาเครื่องมืออื่นควบคู่ไปด้วย”
นายเกียรติพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายจากนโยบายภาคการคลังที่ต้องติดตาม โดยหลังจากช่วงโควิด-19 ระบาด ไทยได้ออกมาตรการเยียวยาจำนวนมาก ผ่านการออกกฎหมายกู้เงินพิเศษเพื่อประคองเศรษฐกิจ ถือว่าไทยทำได้เร็วและทำได้ดี แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว จำเป็นต้องปรับนโยบายจากการเยียวยาสู่การฟื้นฟู ทำให้การใช้จ่ายภาคการคลังลดลง ส่งผลให้รัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลังเยอะขึ้น ซึ่งการกู้เงินในช่วงที่ผ่านมาทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 10% จากระดับ 49% มาเป็น 61% ขณะเดียวกันมองว่าการกู้ยืมใหม่ของรัฐบาลน่าจะหมดไปเพราะเข้าสู่การฟื้นตัว โดยคาดว่าระดับหนี้สาธารณะของไทยจะพุ่งสู่จุดสูงสุดที่ 62.5% ต่อจีดีพีในปีงบประมาณ 66
ทั้งนี้ เห็นว่านโยบายภาคการคลังควรมีการปรับตัว มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มรายได้ทางการคลังให้มากขึ้น เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลัง การปรับนโยบายที่เน้นช่วยเหลือครัวเรือนที่ได้ผลกระทบอย่างแท้จริง เน้นนโยบายที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบางให้ได้รับความคุ้มครองทางสังคม จะช่วยเพิ่มพื้นที่ทางการคลังมากขึ้น และเพิ่มพื้นที่ในการลงทุนของภาครัฐ ส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ คาดว่าในปี 65 คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลเพียงเล็กน้อย แต่การแก้ปัญหาคอขวดในการผลิต การฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ และราคาน้ำมันโลกที่ลดลง อาจทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยกลับมาเกินดุลอีกครั้งในปี 66 และปี 67
สำหรับระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ หนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่สูงขึ้น ขณะที่มาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้กู้ที่รัฐบาลดำเนินการอาจบดบังสินเชื่อด้อยคุณภาพ ซึ่งมีแนวโน้มจะเปิดเผยออกมาหลังสิ้นสุดมาตรการในปี 2565 ทำให้มีความเสี่ยงที่หนี้ครัวเรือนจะสูงกว่าระดับ 90% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 64
นายเกียรติพงศ์ ยังให้ความเห็นต่อการปรับดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า กนง. สามารถเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในเร็ว ๆ นี้ แต่ควรเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยหากมีการปรับขึ้นในทุกรอบของการประชุม กนง. ในช่วงที่เหลือของปีนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะสามารถกลับสู่อัตราใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยปกติได้ในปี 66 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยค่อนข้างฟื้นตัวได้ดีขึ้น
“เป้าหมายสำคัญของนโยบายการเงิน คือการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นหากจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็ต้องดูว่าทำอย่างไรไม่ให้กระทบกระเทือนกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงควรมีการปรับในอัตราที่ค่อยเป็นค่อยไป ให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ”
นายเกียรติพงศ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 65)
Tags: GDP, lifestyle, กนง., ธนาคารโลก, เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา, เวิลด์แบงก์, เศรษฐกิจไทย