นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) พร้อมคณะว่า เรื่องที่หารือในวันนี้และเป็นเรื่องใหญ่คือเรื่องของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งถูกลดจากเดิม 100% เหลือเพียง 10% เชื่อว่าทุกท้องถิ่นรายได้หายไปกว่า 19,000 ล้านบาท และรัฐบาลยังไม่ได้มีการคืนกลับมาให้ ซึ่งคงต้องมีการทำข้อเรียกร้อง
ปัญหาฐานข้อมูลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีความละเอียดและเปลี่ยนรูปจากเดิมประเมินจากรายได้เป็นประเมินจากข้อมูล ในขณะที่ฐานข้อมูลยังไม่ครบถ้วน สามารถประเมินได้เพียง 60% บางส่วนเมื่อประเมินไปแล้วพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพอาคารไปมาก และประชาชนบางส่วนมีการอุทธรณ์ ซึ่ง กทม.ต้องเร่งในการจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าว โดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เนื่องจากมีผลต่อรายได้จำนวนมาก
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เราเปลี่ยนจากภาษีโรงเรือนมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งแนวคิดเป็นคนละส่วนกัน จากแนวคิดเปอร์เซ็นต์ของรายได้มาเป็นมูลค่าของสิ่งปลูกสร้าง หลายอย่างก็มีข้อกังวล อาทิ หากมีเสาโทรคมนาคมอยู่ที่ตึกหนึ่ง เราสามารถคิดภาษีได้ เนื่องจากเสาโทรคมนาคมถือว่ามีรายได้ แต่หากเป็นภาษีที่ดินและปลูกสร้างจะถือว่าเสานี้เป็นส่วนควบอาคาร ไม่มีการเก็บภาษี ทำให้ฐานภาษีหลายอย่างหายไป ต้องพิจารณาให้ละเอียดว่าสุดท้ายแล้วรายได้จะเพิ่มขึ้นหรือหายไปเท่าไหร่
ทั้งนี้ ในเรื่องของการจัดเก็บภาษี กทม.ต้องไปแก้กฎหมายการจัดเก็บภาษีทั้งยาสูบและโรงแรม การพิจารณาภาษีที่ควรจะเก็บแต่ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ อาจเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องการจ่าย หรือเรียกเก็บจากผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นภาระในการดูแลรักษา
นอกจากนี้ ได้มีการหารือรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชาชนสามารถลงชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งได้ ภายหลังการเลือกตั้ง 6 เดือน และจำนวนของผู้ที่ลงชื่ออาจจะไม่มากนัก ในขณะที่ไม่ครอบคลุมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อาจเป็นปัญหาหนึ่งที่จะทำให้การทำงานลำบากขึ้น ซึ่งต้องเข้าไปดูในรายละเอียดและจะจัดทำเป็นข้อสังเกตและข้อหารือส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎร
“การกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ อย่างวันนี้กทม.ก็เริ่มกระจายอำนาจให้ประชาชน ในการแจ้งเหตุ บอกเรื่องต่างๆ ทำให้ทุกอย่างเดินดีขึ้น ราชการตอบสนองต่อปัญหาของประชาชนได้ดีขึ้น ทุกคนเห็นตรงกัน อาจอยู่ที่รายละเอียดแตกต่างกันไป ส่วนเรื่องภาษี เราต้องเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้ได้มากที่สุด อัพเดทข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ต้องพยายามแก้ปัญหาจุดนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสุดท้ายแล้วต้องเก็บภาษีให้ยุติธรรม เก็บให้ครบถ้วน และให้เป็นธรรมกับประชาชนด้วย”ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา ในฐานะนายกสมาคมฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายรูปแบบ ทั้งกรุงเทพมหานคร พัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนปัญหาข้อจำกัดต่างๆของท้องถิ่นก็ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ทั้งเรื่องของการกระจายอำนาจ การเงินการคลัง โดยเฉพาะเรื่องของภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
จากการหารือในวันนี้พบว่า กทม.ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลที่ลดภาษีให้จัดเก็บเพียง 10% เช่นกัน ซึ่งท้องถิ่นถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนระดับรากหญ้า เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนรากหญ้ามีความสุข มั่นคงในชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดี และต่อภาพเล็กๆจากหลายท้องถิ่นให้กลายเป็นภาพใหญ่ของประเทศ ประเทศก็จะมีความมั่นคงเช่นเดียวกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 65)
Tags: ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ภาษีที่ดิน