น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ฮังการี ครั้งที่ 3 ซึ่งจะมีการรับรองเอกสารระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ในวันที่ 29 มิ.ย. 2565 โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ณ กระทรวงการต่างประเทศ
สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงความร่วมมือด้านอื่นๆ ระหว่างสองประเทศ ขณะเดียวกัน เป็นการสร้างโอกาสและเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทาย ซึ่งในปี 2566 ไทยกับฮังการีจะฉลองโอกาสครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน
สำหรับร่างเอกสารผลลัพธ์ฉบับนี้ จะใช้เป็นกรอบในการประชุม โดยมีสาระสำคัญกล่าวถึงสาขาความร่วมมือในด้านต่างๆ ดังนี้
1. ด้านเศรษฐกิจและการค้า อาทิ 1) ส่งเสริมการติดต่อระหว่างภาคเอกชน และการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยในฮังการี 2) เสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจให้แก่บริษัทไทยและฮังการีในหลายสาขา 3) สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับการลงทุนในเขต EEC โดยเฉพาะการลงทุนด้านสุขภาพ ดิจิทัล เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ และโลจิสติกส์ และ 4) ยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในด้านต่างๆ อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหารพร้อมทาน เครื่องแต่งกายและสิ่งทอราคาแพง สินค้าเกษตร เช่น ปุ๋ยออร์แกนิค สินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์พลังงงานไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ยางรถยนต์ และยางพารา รวมถึงสินค้าด้านสาธารณสุข เช่น ยา เวชภัณฑ์ และสมุนไพร
2. ด้านการลงทุน อาทิ 1) เน้นย้ำถึงที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศ ที่เป็นประตูสู่ตลาดขนาดใหญ่ทั้งสหภาพยุโรปและอาเซียน ซึ่งสร้างโอกาสที่ดีในการลงทุนและการจัดตั้งธุรกิจร่วมลงทุน 2) ความสำคัญของการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจในไทย 3) รัฐบาลฮังการีจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมด้านการลงทุนฮังการี (Hungarian Investment Promotion Agency: HIPA) เพื่อสนับสนุนการตั้งกิจการของเอกชนไทยในฮังการี และ 4) ฮังการีเสนอให้ปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฮังการี ที่ลงนามเมื่อปี 2534 ให้ทันสมัย และเอื้อให้นักลงทุนทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือทางวิชาการ อาทิ 1. ทั้งสองฝ่ายสนใจที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวฮังการี (Hungarian Tourism Agency) 2. ริเริ่มบันทึกความเข้าใจฉบับแรกด้านวัฒนธรรม ระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมและนวัตกรรมของฮังการีและกระทรวงวัฒนธรรมของไทย ปี 2565-2567 ซึ่งสนับสนุนความร่วมมือ 5 ด้าน ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์ (Film) เสื้อผ้า (Fashion) ศิลปะการต่อสู้ (Fighting) และเทศกาล (Festival) การศึกษา
3. เสริมสร้างความร่วมมือในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา โดยเฉพาะในสาขาการเกษตรและเทคโนโลยี การท่องเที่ยว การผลิต การขนส่ง สังคมศาสตร์ พลศึกษา และการจัดการน้ำ และ 4. ฮังการีจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปี 2566
น.ส.รัชดา กล่าวเสริมว่า ในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับฮังการี มีมูลค่า 712.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าที่ไทยส่งออกไปฮังการี เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ มูลค่า 504.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากฮังการี เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน มูลค่า 208.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้าจากฮังการีรวม 296.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 65)
Tags: ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, รัชดา ธนาดิเรก, ฮังการี