ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงระยะเวลาที่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในช่วงขาลงนั้น จะมีนักลงทุนทั้งหน้าใหม่หน้าเก่าขาดทุนเป็นจำนวนมาก นักลงทุนบางคนก็จะมองหาผู้รับผิดชอบความเสียหายจากการลงทุนนั้น ๆ ซึ่งหนึ่งในการกล่าวโทษ หรือ ข้อหาที่นักลงทุนจะพูดถึงก็คือ เจ้าของโครงการ ผู้ออกเหรียญ หรือตัวเหรียญเองว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ และต้องการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐติดตามทรัพย์สินที่ตนลงทุนนั้นคืนหรือดำเนินคดีเอากับเจ้าของโครงการ ผู้ออกเหรียญ รวมถึงผู้ที่ชักชวนตนเองต่อไป
ดังนั้น จึงน่าพิจารณาและทำความเข้าใจว่าในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นสินทรัพย์ในรูปแบบใหม่ ว่าการลงทุนหรือลักษณะของการลงทุนใดเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ และที่จริงแล้วแชร์ลูกโซ่นั้นมีหน้าตาหรือลักษณะอย่างไร การลงทุนแล้วขาดทุนเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่
ตามกฎหมายไทยแล้วอนุญาตให้ประชาชนสามารถเล่นแชร์หรือตั้งวงแชร์ได้โดยถูกกฎหมายตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งแตกต่างกับ แชร์ลูกโซ่ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
โดยลักษณะทั่วไปของแชร์ลูกโซ่นั้นจะอาศัยการชักชวนให้ลงเงินหรือลงทุนต่อกันไปเป็นทอด ๆ จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งจนมีจำนวนคนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเงินที่แต่ละคนลงไปนั้น จะถูกนำไปจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับคนเก่าเป็นทอด ๆ เหมือนลูกโซ่ (ไม่ใช่ Blockchain) จนในที่สุดเมื่อหาคนมาเพิ่มไม่ได้หรือเงินในโครงการหมุนไม่ทัน แชร์ลูกโซ่นั้น ๆ ก็จะถูกปิดและผู้ริเริ่มก็จะหนีหายไป
สำหรับแชร์ลูกโซ่ในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ผู้เสียหายมักจะถูกชักชวนให้ลงทุน (ลงเงิน) เพื่อการเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล หรือการออกโทเคนดิจิทัลขึ้นมาใหม่ โดยผู้ชักชวนสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว มีบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมลงทุน และมีค่าคอมมิชชั่นหรือค่าแนะนำให้กับคนที่หานักลงทุนมาเพิ่มได้ แต่ไม่มีการดำเนินธุรกิจหรือไม่มีการดำเนินการตามที่กล่าวอ้างนั้นจริง
เมื่อพิจารณาการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วนั้น ยากที่จะบอกว่าโครงการใดหรือลักษณะใดเป็นแชร์ลูกโซ่ เนื่องจากลักษณะของสินค้าและบริการในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นต่างกับสินค้าและบริการแบบดั้งเดิมที่สามารถจับต้องได้หรือได้รับบริการนั้น ๆ ได้โดยตรง แต่สินค้าและบริการในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นไม่สามารถจับต้องหรือได้รับบริการได้โดยตรง และด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันก็สามารถสร้างโทเคนดิจิทัลเพื่อเป็นสื่อกลางหรือเป็นสินค้าได้ง่าย อีกทั้งกฎหมายไทยยอมรับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีราคาและถือเอาได้ กล่าวคือสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นทรัพย์สินรูปแบบหนึ่ง
ดังนั้น หากจะพิจารณาว่าธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือโครงการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลใด ๆ เป็นแชร์ลูกโซ่ได้นั้น จะต้องพิจารณาไปยังเนื้อหาสินทรัพย์ หรือการให้บริการนั้น ๆ ซึ่งอาจรวมถึงหนังสือชี้ชวน (Whitepaper) เอกสารต่าง ๆ ว่ามีการสัญญาหรือโฆษณาว่าโครงการหรือการลงทุนนั้น ๆ จะได้สิ่งใดตอบแทนนอกเหนือจากผลตอบแทนหรือกำไร
หากโครงการหรือธุรกิจนั้น ๆ มีการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการให้บริการหรือคุณค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ รองรับ กล่าวคือ มีการโอนโทเคนดิจิทัลหรือเหรียญให้ผู้ซื้อหรือนักลงทุนจริง แต่โทเคนดิจิทัลหรือเหรียญดังกล่าวไม่ถูกใช้งานใด ๆ หรือไม่สามารถทำไปทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจใด ๆ ได้ก็อาจพิจารณาได้ว่า โครงการหรือธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเป็น แชร์ลูกโซ่
แต่อย่างไรก็ตาม หากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลใดแม้มีการโฆษณาว่าให้ผลตอบแทนที่สูงแต่มีการโอนหรือมอบสินทรัพย์ดิจิทัลหรือให้บริการจริงและสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผู้ซื้อหรือผู้ลงทุนได้รับนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ สามารถนำไปใช้งานได้จริงหรือสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้จริงนอกเหนือจากผลตอบแทนที่เจ้าของโครงการหรือธุรกิจนั้น ๆ แจ้งหรือโฆษณาไว้ ถึงแม้มูลค่าหรือราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นจะลดลงอย่างมากแต่หากสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ ยังสามารถใช้เพื่อประกอบธุรกรรมต่าง ๆ ได้เช่นเดิม ก็อาจไม่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ เจ้าของโครงการหรือผู้ออกเหรียญก็อาจไม่มีความผิดใด ๆ ตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่อาจติดตามเอาคืนทรัพย์สินที่นักลงทุนลงได้กลับคืนมาได้
ท้ายที่สุดแม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกลเพียงใดแต่สำหรับการลงทุนแล้วนั้นจะมีความเสี่ยงเสมอ ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน และเมื่อลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ แล้วไม่ได้เป็นไปดังหวัง บุคคลแรกที่จะต้องรับผิดชอบความเสียหายนั้น ๆ ก็จะเป็นตัวนักลงทุนเสมอนั่นเอง
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 65)
Tags: Cryptocurrency, Decrypto, คริปโทเคอร์เรนซี, สินทรัพย์ดิจิทัล, แชร์ลูกโซ่