นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการศึกษาการระบาดในเด็ก ระลอก 4 (ม.ค.-16 เม.ย. 65) พบว่า โอกาสในการเสียชีวิตหลังจากติดโควิดในเด็กโต (อายุ 10-14 ปี) มีน้อยมาก อยู่ที่ 1 ใน 150,000 คน ทั้งนี้ เมื่อนำตัวอย่างเลือดของเด็กอายุ 5-6 ปี ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาตรวจแอนติบอดีต่อ Nucleocapsid พบว่า ในช่วงที่เดลตาระบาดเด็กติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 7-8% แต่ในช่วงที่โอมิครอนระบาดเด็กมีการติดเชื้อไปแล้วถึงประมาณ 27% หรือติดเชื้อไปแล้ว 1 ใน 4 โดยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่ก็สามารถแพร่เชื้อได้
“จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า เด็กจำนวนหนึ่งติดเชื้อไม่มีอาการ ในช่วงที่มีการเปิดเทอมจะพบการแพร่ระบาดมากขึ้น เดือนหน้า (ก.ค. 65) คงจะได้เห็นยอดติดเชื้อที่สูงกกว่านี้แน่นอน ไปจนถึงเดือนส.ค. 65 และจะค่อยๆ ลดลงและต่ำลงในเดือนต.ค.-พ.ย. 65 และจะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งในเดือนม.ค. 66 หรือในช่วงเปิดภาคเรียน” นพ.ยง กล่าว
นพ.ยง กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์วัคซีนในประเทศไทย ขณะนี้มีการให้วัคซีนถึง 5 เข็มแล้ว โดยมีการฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 อยู่ที่ประมาณ 80% และเข็ม 3 อยู่ที่ประมาณ 40% ส่วนเข็ม 4-5 มีจำนวนน้อยมาก แสดงให้เห็นว่าอัตราการฉีดวัคซีนของไทยไม่ค่อยคืบหน้า โดยเฉพาะเข็ม 1-2 ที่ปัจจุบันควรครอบคลุม 90% แล้ว
ทั้งนี้ จากการตรวจภูมิต้านทานของผู้ใหญ่ พบว่า การให้วัคซีน 2 เข็มแรก ระดับภูมิต้านทานจะขึ้นไม่สูง ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนอะไรก็ตาม ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องให้เข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานให้สูงขึ้น เพื่อต่อสู้กับสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งโอมิครอนต้องใช้ระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าสายพันธุ์เดิมอู่ฮั่นมาก
ดังนั้น หลังฉีดวัคซีนนานเกิน 4 เดือนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 หรือ 4 ภูมิต้านทานก็จะลดลงในระดับที่ต่ำกว่าระดับป้องกันการติดเชื้อ จึงแนะนำว่าให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นหลัง 4-6 เดือน
“ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนยี่ห้ออะไรก็ขอให้ฉีด 3 เข็ม นับทุกยี่ห้อเท่ากัน สำหรับผู้ที่ติดโควิดแล้วนั้น ให้นับการติดโควิดเป็นการฉีดวัคซีน 1 เข็ม เนื่องจากการติดโควิดสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูง ส่วนใครที่ฉีดวัคซีนแล้วลืม สามารถฉีดต่อได้เลย อย่างไรก็ดี เน้นย้ำว่าวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่ป้องกันป่วยหนัก เสียชีวิต” นพ.ยง กล่าว
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก จากรายงานพบว่าขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง เนื่องจากหลายประเทศตรวจหาเชื้อลดลง ซึ่งคาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงน่าจะมากกว่านี้ถึงประมาณ 10 เท่า รวมทั้งในไทยด้วย อย่างไรก็ดี อัตราการเสียชีวิตในระลอกของการระบาดสายพันธุ์โอมิครอนนั้น ถือน้อยกว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดสายพันธุ์เดลตามาก
สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดหลักทั่วโลกขณะนี้ คือโอมิครอน โดยมีสายพันธุ์ย่อยเกิดขึ้นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบันพบว่า สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานความรุนแรงแต่อย่างใด
ทั้งนี้ จากข้อมูลทั่วโลกพบว่า ในเดือนมิ.ย. 65 พบ BA.5 เพิ่มขึ้นเป็น 30.3% จากเดือนพ.ค. ที่ 3.7% อย่างไรก็ดี ทั่วโลกมีการถอดรหัสพันธุกรรมน้อยลงเช่นเดียวกับที่ตรวจหาเชื้อลดลง ดังนั้น ประเทศไหนมีการถอดรหัสมากก็พบมาก ซึ่งส่งผลให้ความแม่นยำลดลงด้วย ในส่วนของประเทศไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็พบมากขึ้น โดยเดือนพ.ค. 65 อยู่ที่ 1.6% ส่วนมิ.ย. อยู่ที่ 8.1% อย่างไรก็ดี ต้องจับดูข้อมูลของสัปดาห์นี้ต่อไป
ในส่วนของอาการ Long Covid นพ.ยง กล่าวว่า คำจำกัดความ คืออาการที่หลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด ซึ่งตรวจหาได้ยาก และส่วนใหญ่มาจากคำบอกเล่า เช่น ไม่ได้กลิ่น หรือนอนไม่หลับ เป็นต้น ส่วนอาการหลักๆ คือ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย สมองล้า หัวตื้อ และหายใจติดขัด สำหรับปัจจัยเสี่ยง คือ ผู้ป่วยหนักจะพบมากกว่า, พบในอายุมาก บ่อยกว่าอายุน้อย, พบในเพศหญิงมากกว่าชายเล็กน้อย, พบในผู้ที่มีโรคอื่นร่วมด้วย และผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
“จากข้อมูลพบว่า อาการ Long Covid ในช่วงที่เดลตาระบาดอยู่ที่ 12% แต่ในช่วงที่โอมิครอนระบาดพบ 3% และเชื่อว่าปีหน้าก็จะลดลงอีก เป็นเพราะคนเริ่มรู้จักโรค และกังวลหรือกลัวลดลง” นพ.ยง กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, ยง ภู่วรวรรณ, โควิด-19, โอมิครอน