นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4/BA.5 ว่า 2 สายพันธุ์ย่อยนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ และพบตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นที่กังวลว่าโรคจะแพร่เร็วจนไม่สามารถควบคุมได้นั้น พบว่าในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ สายพันธุ์ BA.4/BA.5 แพร่เร็วกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม 1.3-1.4 เท่า แต่ประเทศอื่นในยุโรปยังพบว่าแพร่ได้น้อยกว่า
ดังนั้น เรื่องความเร็วในการแพร่เชื้อจึงยังไม่มีความชัดเจน ส่วนในประเทศไทย จากการส่งตรวจสายพันธุ์ยังพบสัดส่วนในคนต่างชาติมากกว่าคนไทย และจากการเฝ้าระวังเรื่องการทำให้เกิดอาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีลักษณะเช่นนั้น
“สิ่งสำคัญคือ พบว่า BA.4/BA.5 ทำให้ภูมิต้านทานเชื้อลดลงบ้าง จึงแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่ม โดยผู้ที่ฉีด 3 เข็มแล้ว หากถึงระยะเวลาที่แนะนำ คือ 4 เดือน ควรมาฉีดกระตุ้นซ้ำ เพราะมีข้อมูลในต่างประเทศว่าผู้ป่วยจากสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ถ้าได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น อาการจะน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด ซึ่งชัดเจนว่าวัคซีนยังได้ผลในการป้องกันอาการหนักและเสียชีวิต” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ส่วนการขับเคลื่อนโรคโควิด-19 สู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) หลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 คาดว่าจะเป็นไปตามแผน ซึ่งประเด็นสำคัญคือ การระบาดใหญ่ในประเทศไทยคงไม่มีแล้ว โรคลดความรุนแรงลง และระบบสาธารณสุขรองรับได้ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโรคเกิดขึ้น แต่อาจมีเป็นคลัสเตอร์ขึ้นมาบ้างแล้วลดลงไป ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุม ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม มีระบบเฝ้าระวังและเตรียมการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ
รวมถึงยังต้องฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง ซึ่งยังเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อและเสียชีวิตที่สำคัญ โดยขณะนี้สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 สะสมเกือบ 140 ล้านโดสแล้ว มีประชาชนได้ฉีดเข็มแรก 60 ล้านคน ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี อย.สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ฉีดได้แล้ว ในประเทศไทยหากได้รับการอนุมัติจาก อย. ไทยแล้ว จะมีการหารือถึงเวลาและรูปแบบการฉีดที่เหมาะสมต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 65)
Tags: lifestyle, กระทรวงสาธารณสุข, เกียรติภูมิ วงศ์รจิต, โอมิครอน