บมจ.ไทยประกันชีวิต (TLI) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ 16 บาท/หุ้น จำนวนเสนอขายไม่เกิน 2,155,068,900 หุ้น หรือไม่เกิน 18.8% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ในกลุ่มธุรกิจการเงิน/ประกันภัยและประกันชีวิต
โดยระยะเวลาจองซื้อ สำหรับบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ บุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัท และพนักงานบริษัท ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. -6 ก.ค. 65 ส่วนผู้ลงทุนสถาบันที่จองซื้อในประเทศ นิติบุคคลที่สามารถเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อและผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 11-12 และ 14 ก.ค.65
ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหลัก ได้แก่ บล.เกียรตินาคินภัทร บล.กรุงศรี บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี บล.โนมูระ พัฒนสิน บล.ฟินันซ่า ส่วนผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม ได้แก่ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) บล.ทิสโก้ บล.ธนชาต บล.บัวหลวง บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) บล.เอเซีย พลัส บล.ไทยพาณิชย์ และ บล.ไอร่า
นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ ประธานสายวานิชธนกิจและตลาดทุน บล.เกียรตินาคินภัทร หนึ่งในที่ปรึกษาทางการเงินของ TLI คาดหุ้น TLI จะเข้าเซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนก.ค.นี้ และคาดว่าจะได้รับอนุมัติการจดทะเบียนเพิ่มทุนชำระแล้วจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ภายในเดือน ก.ค.65
ทั้งนี้ TLI เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 2,155 ล้านหุ้น จากหุ้นเพิ่มทุนใหม่ของบริษัท 850 ล้านหุ้น และหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมคือ บริษัท วี.ซี.สมบัติ จำกัด และ Her Sing (H.K.)Limited จำนวน 1,305 ล้านหุ้น นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-allotment Option หรือ Greenshoe) อีกจำนวนไม่เกิน 161,630,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 7.5% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด เพื่อช่วยลดความผันผวนราคาหุ้นหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 30 วันแรก เพื่อไม่ให้ราคาหุ้นต่ำกว่าราคา IPO โดยบล. เกียรตินาคินภัทร จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินและดำเนินการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น (Overallotment and Stabilizing Agent)
“หุ้น IPO ของไทยประกันชีวิต ที่เสนอขาย 16 บาท/หุ้น จะทำให้ TLI มีมูลค่าตลาด (Market Cap.) ถึง 183,200 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าสูงอยู่ใน 25 ลำดับแรกของ SET และนับเป็นมูลค่าเสนอขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย”
นายอนุวัฒน์ กล่าว
TLI จะมีการจัดสรรหุ้น IPO เบื้องต้นให้ผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors จองซื้อในประเทศและต่างประเทศ (สถาบันต่างประเทศ 12 ราย และ สถาบันต่างประเทศ 6 ราย) จำนวน 1,158.36 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 53.8% ผู้ลงทุนสถาบันที่จองซื้อในประเทศและต่างประเทศ (Institutional Bookbuild) 128.85 ล้านหุ้น หรือ 6% บุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัท (รวม Meiji Yasuda Life Insurance Company ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท) 129.83 ล้านหุ้น หรือ 6% พนักงานบริษัท 33.65 ล้านหุ้น หรือ 1.6% และ บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 704.38 ล้านหุ้น หรือ 28.7%
Cornerstone Investors ของ TLI ประกอบด้วยนักลงทุนสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น GIC Private Limited, Oaktree Capital Management เป็นต้น รวมถึงนักลงทุนสถาบันชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ บลจ. กสิกรไทย บลจ. ไทยพาณิชย์ บลจ. กรุงศรี บลจ. กรุงไทย บลจ. เอ็มเอฟซี เป็นต้น
“ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา คณะผู้บริหารของไทยประกันชีวิตได้พบปะกับนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อนำเสนอข้อมูล หุ้น TLI ได้รับกระแสการตอบรับที่ดีและความสนใจในการลงทุนเป็นจำนวนมาก แม้ในภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การลงทุนผันผวน นักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศรวม 18 ราย สนใจลงทุนเป็น Cornerstone Investors คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 18,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 50.0% ของจำนวนหุ้น IPO ทั้งหมดในครั้งนี้”
นายอนุวัตร กล่าว
กำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 16.00 บาท/หุ้น หากพิจารณามูลค่าพื้นฐานของกิจการ (Embedded Value) ของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ธ.ค.64 เท่ากับ 142,277.3 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดจำนวน 10,600,000,000 หุ้น จะได้มูลค่าพื้นฐานของกิจการต่อหุ้น (Embedded Value Per Share) เท่ากับ 13.42 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าพื้นฐานของกิจการ (Price to Embedded Value Ratio : P/EV) 1.19 เท่า
และหากพิจารณาจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มี.ค.65 ซึ่งเท่ากับ 85,909.63 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดจำนวน 11,450,000,000 หุ้น (Fully Diluted) (บนสมมติฐานว่ามีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งจำนวน 850,000,000 หุ้น) จะได้มูลค่าตามบัญชีสุทธิต่อหุ้น (Book Value Per Share) เท่ากับ 7.50 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Price to Book Value Ratio : P/BV) ประมาณ 2.13 เท่า
ทั้งนี้ สำหรับธุรกิจประกันชีวิต การประเมินมูลค่าของบริษัทด้วยอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) จะไม่สะท้อนถึงมูลค่ายุติธรรมของบริษัท เนื่องจากไม่สะท้อนถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจจากกระแสเงินสดที่บริษัทจะได้รับจากกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี
บริษัทคาดว่าจะระดมทุนจากการเสนอขายหุ้น IPO ได้จำนวน 13,600 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์นำเงินไปใช้การลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) และการทำการตลาด จำนวน 2,000 ล้านบาท ,ใช้เสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตร จำนวน 5,400 ล้านบาท และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน และสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและวัตถุประสงค์อื่นๆ จำนวน 6,200 ล้านบาท
นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TLI กล่าวว่า ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่งกว่า 80 ปีในธุรกิจประกันชีวิต ผนวกกับการพัฒนาองค์กรอย่างไม่หยุดยั้ง วันนี้ TLI พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจด้วยวิสัยทัศน์การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน ผ่านการปรับกระบวนทัศน์ในการดำเนินธุรกิจทุกด้าน โดยยกระดับสู่การเป็น Data Driven Company ดำเนินธุรกิจผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงกลยุทธ์ เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานแบบครบวงจร และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในลักษณะเฉพาะบุคคลได้อย่างแท้จริง
การเสนอขายหุ้น IPO ของ TLI ในครั้งนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่มิติใหม่ รองรับการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งความแข็งแกร่งในปัจจุบัน พร้อมด้วยยุทธศาสตร์ที่จะสร้างการเติบโตในอนาคตที่ชัดเจน เชื่อว่าจะทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่าเป็นบริษัทประกันชีวิตที่สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย ตลอดจนอยู่เคียงข้างดูแลลูกค้าและคนไทยอย่างยั่งยืน
นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TLI กล่าวว่า TLI เป็นบริษัทประกันชีวิตรายแรกและรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่เป็นของคนไทยและก่อตั้งโดยคนไทย ซึ่งแบรนด์ไทยประกันชีวิตมีความเป็นเอกลักษณ์ น่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ กลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้เราได้รับความไว้วางใจ และรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้ามาได้อย่างยาวนาน โดย ณ วันที่ 31 มี.ค.65 มีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับกว่า 4.4 ล้านกรมธรรม์
ขณะเดียวกัน บริษัทมุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและครอบคลุม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกช่วงชีวิต ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ทั้งเครือข่ายตัวแทน ประกันชีวิตมืออาชีพ ที่มีจำนวนกว่า 64,000 คนกระจายครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงการจัดจำหน่ายผ่านพันธมิตร และช่องทางอื่นๆ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
จุดแข็งอีกด้านมาจากการที่ TLI มีคณะผู้บริหารทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มากด้วยประสบการณ์ในธุรกิจประกันชีวิต อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรธุรกิจ บริษัท เมจิยาสุดะ ไลฟ์ อินชัวรันส์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทประกันชีวิตรายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งและมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น พร้อมสร้างโอกาสการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว
ในส่วนของผลการดำเนินงานในปี 64 TLI มีส่วนแบ่งทางการตลาดเมื่อพิจารณาจากเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ประมาณ 15% เป็นอันดับที่ 2 ในอุตสาหกรรมประกันชีวิต โดยมีรายได้รวม 109,246 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8,394 ล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 11.3% ระหว่างปี 62-64 ขณะที่ในไตรมาส 1/65 มีรายได้รวม 25,955 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,793 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 14.7% เทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
ณ วันที่ 31 มี.ค.65 บริษัทมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่ที่ 360.6% ซึ่งสูงกว่าข้อกำหนดของ คปภ. ที่กำหนดไว้ที่ 140% อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับในเดือน เม.ย.65 Fitch Ratings ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของบริษัทฯ ไว้ที่ A- (ระดับสากล) และ AAA (tha) (ระดับภายในประเทศ)
“การเสนอขายหุ้น TLI ในครั้งนี้ นับเป็น IPO ของหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน หมวดธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย และเป็น IPO ของบริษัทประกันชีวิตที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา”
นางวรางค์ กล่าวเสริม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 65)
Tags: IPO, TLI, หุ้นไทย, ไทยประกันชีวิต