นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. วานนี้ (23 มิ.ย.) มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ เพื่อแก้ปัญหาการทับซ้อนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วง กรุงเทพมหานคร-หนองคาย (โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน) สัญญาสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และให้รฟท.เสนอผลการเจรจาของคณะทำงาน 3 ฝ่าย ได้แก่ รฟท. คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานโครงการฯ เสนอ สกพอ.ในสัปดาห์หน้า เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป
โดยคณะทำงาน 3 ฝ่าย ได้ร่วมกันพิจารณาและได้ข้อสรุปใน 5 ประเด็น คือ 1. การส่งมอบพื้นที่ โดยรฟท.มีสิทธิเข้าครอบครองพื้นที่ตามกฎหมาย 100% ตั้งแต่เดือนก.พ. 2565 ทั้งในส่วนของที่ดินบุกรุก ที่ดินเวนคืน รฟท.ได้ดำเนินการตามกระบวนการตามกฎหมายเพื่อเข้าครอบครองครบถ้วนแล้ว การส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้โดยไม่เป็นอุปสรรคกีดขวางการก่อสร้างในวันที่ 31 พ.ค. 65
2. การส่งมอบพื้นที่รอบสถานีระบบขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development :TOD) บริเวณมักกะสันประมาณ 150 ไร่ ที่มีลำรางสาธารณะปรากฏอยู่ ซึ่ง สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบข้อหารือ ของรฟท.กลับเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 65 เรื่องการตีความสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ เกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ซึ่งได้มีการเสนอคณะกรรมการกำกับฯ พิจารณาตามอำนาจข้อ 20 (3) ของประกาศ EEC Track เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 65 ได้วินิจฉัยยุติแล้ว ว่าลำรางสาธารณะและบึงเสือดำในพื้นที่ TOD มักกะสัน ไม่ใช่เงื่อนไขในการส่งมอบพื้นที่
3.คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีมติให้การส่งเสริมการลงทุนแก่เอกชนแล้ว เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 65 แต่เอกชนขอเวลาดำเนินการเพื่อให้ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน คาดว่าจะได้รับภายในเดือนก.พ. 66
4. คณะทำงานเจรจา 3 ฝ่ายร่วมกันพิจารณาวันเริ่มต้นนับระยะเวลาโครงการฯ ที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้โครงการล่าช้า เบื้องต้นกำหนดเมื่อลงนามแก้สัญญาร่วมลงทุนฯแล้ว หรืออย่างช้าไม่เดินวันที่ 4 ม.ค. 66 จะมีการออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed)
5. รฟท.และเอกชนคู่สัญญา อยู่ระหว่างจัดทำบันทึกผลการเจรจาเพื่อเสนอคณะกรรมการกำกับฯ พิจารณาตามขั้นตอนของประกาศ EEC โดยหลังจากนี้ จะรอให้ทางเอกชนตอบยืนยันมาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อส่งไปที่สกพอ. คาดว่าจะนำเสนอกพอ.ในการประชุมต้นเดือนก.ค. 2565
ทั้งนี้ในการก่อสร้างโครงสร้างร่วม ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง รองรับความเร็ว 250 กม./ชม. โดยมีความเห็นของคณะกรรมการบริหารพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่ให้เอกชนดำเนินการโดยรัฐไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยปรับระยะเวลาการใช้คืนค่าก่อสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบินให้เร็วขึ้น
สำหรับการเจรจาที่ได้ข้อยุติไปก่อนหน้านี้แล้ว ได้แก่ เอกชนยอมรับในการก่อสร้างโครงสร้างร่วมฯ ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และรับผิดชอบค่าก่อสร้างเพิ่มจำนวน 9,207 ล้านบาท โดยรฟท.ปรับเงื่อนไขการชำระคืนค่าก่อสร้างเร็วขึ้น โดยเริ่มชำระคืนเป็นเดือนที่ 21 ซึ่งล่าสุดปรับเวลาการออก NTP เป็นเดือน ม.ค. 2566 เท่ากับ รฟท.จะเริ่มชำระคืนค่าก่อสร้างในเดือน ต.ค. 67
ส่วนกรณีการชำระค่าสิทธิร่วมลงทุน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671.090 ล้านบาท ซึ่งได้มีการเจรจาแก้ปัญหาเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารลดลง โดยมีข้อยุติว่าจะแบ่งชำระค่าสิทธิร่วมลงทุน จำนวน 10,671.090 ล้านบาท เป็น 7 ปี โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย โดยหากโควิด-19 ยุติก่อนระยะเวลา 7 ปี โดยยึดประกาศจากรัฐบาล จะประเมินจำนวนผู้โดยสารในช่วง 1 ปีหลังจากนั้นแล้วจึงพิจารณาการชำระเงินที่เหลือในคราวเดียว
อย่างไรก็ตาม จะมีการขยายบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ที่จะครบกำหนดวันที่ 24 ก.ค. 65 ออกไปอีก เพื่อรอกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯให้เรียบร้อย เนื่องจากขั้นตอนการเสนอกพอ.และครม. มีระยะเวลาในการดำเนินการรวมถึงการยกร่างแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ โดยไม่ให้เกินจากวันที่ 4 ม.ค. 66
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มิ.ย. 65)
Tags: การรถไฟแห่งประเทศไทย, รฟท., สนามบิน, เอก สิทธิเวคิน, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน