บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) เปิดเผยว่า เนื่องจากบริษัทฯ มีแผนที่จะเข้าลงทุนในธุรกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของบริษัท รวมทั้งเพื่อเป็นการรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิ SABUY-W2 ชุดใหม่และเพื่อรองรับการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate)
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 จึงมีมติให้ความเห็นชอบและให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการลดทุนจดทะเบียนของบริษัท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 2,078,059,025 บาท เป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 1,523,053,760 บาท
และอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทอีกจำนวน 726,335,581 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 1,523,053,760 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 2,249,389,341 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 726,335,581 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท
1) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 17,592,920 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ในราคาเสนอขาย 28.25 บาท ต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 496,999,990 บาท ให้แก่นายอานนท์ชัย วีระประวัติ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของ AIT ซึ่งเป็นบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) และเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท โดยนายอานนท์ชัย จะชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนด้วยเงินสด แทนการชำระด้วยใบสำคัญแสดงสิทธิ AIT-W2 ซึ่งที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565
2) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 8,742,857 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ในราคาเสนอขาย หุ้นละ 28 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 244,800,000 บาท ให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งไม่เป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทฯ ได้แก่ จากบริษัท ไอ เอส เอฟ โฮลดิ้ง จำกัด (ISF Holding) เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการที่ ISF Holding จะทำการโอนกิจการทั้งหมดของ ISF Holding ให้แก่บริษัท
ISF Holding จะทำการโอนกิจการทั้งหมด ซึ่งประกอบทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดทั้งหมดจาก ISF Holding ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่จะมีในอนาคต ณ วันโอนกิจการทั้งหมดรวมไปถึงหุ้นสามัญของ iSoftel ที่ ISF Holding ถืออยู่ในสัดส่วน 51.00% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ iSoftel (และ iSoftel ถือหุ้นใน Softel ในสัดส่วน 99.99% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ Softel) ให้แก่บริษัทฯ
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าในการเข้าทำรายการดังกล่าวของบริษัทฯ มีความสมเหตุสมผลและจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เนื่องจากการเข้ารับโอนกิจการทั้งหมดของ ISF Holding เป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ ได้โอกาสในการขยายธุรกิจของบริษัทฯ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย ในด้านการให้บริการและพัฒนาระบบโอนสายอัตโนมัติ ระบบฝากข้อความ ศูนย์บริการข้อมูลโทรศัพท์ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ครบวงจร และธุรกิจการให้บริการคอลเซ็นเตอร์ ศูนย์บริการข้อมูลโทรศัพท์ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ครบวงจร ซึ่งสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งธุรกิจดังกล่าวจะสร้างผลตอบแทน อัตราการเติบโตของทรัพย์สิน ผลกำไร และกระแสเงินสดให้แก่บริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
3) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 3,571,428 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ในราคาเสนอขายหุ้นละ 28 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 99,999,984 บาท ให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งไม่เป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทฯ ได้แก่ MKO Holding เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการที่ MKO Holding จะทำการโอนกิจการทั้งหมดของ MKO Holding ให้แก่บริษัท
ปัจจุบัน MKO Holding ถือหุ้นใน บริษัท อุ๊ปส์ เน็ตเวิรค์ จำกัด (MKO) ในสัดส่วน 50% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ MKO และเข้าลงทุนใน บริษัท เรดเฮ้าส์ ดิจิทัล จำกัด (RH) ในสัดส่วน 50% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ RH โดยบริษัทจะซื้อและรับโอนกิจการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมด MKO Holding
โดยการลงทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายกิจการในธุรกิจการให้บริการการตลาดและสื่อทางดิจิทัศน์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ Ecosystem และพันธมิตรทางธุรกิจของบริษัทฯ ในการเข้าถึงลูกค้า การสร้างชื่องทางการสื่อสารและโฆษณาถึงกลุ่มลูกค้าอย่างเฉพาะเจาะจง สร้าง brand และ product awareness ในกลุ่มลูกค้าต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และยังเป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อมูลลูกค้า โดยสามารถทำการเชื่อมโยงฐานข้อมูลลูกค้าในกลุ่มเข้าสู่ MKO และ RH เพื่อให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมของผู้บริโภคและเกิดการนำเสนอสินค้าและบริการจาก Ecosystem ของบริษัทฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าในการเข้าทำรายการดังกล่าวของบริษัทฯ มีความสมเหตุสมผลและจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เนื่องจากการเข้ารับโอนกิจการทั้งหมดของ MKO Holding เป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ ได้โอกาสในการขยายธุรกิจของบริษัทฯ ในด้านการโฆษณาสื่อดิจิทัศน์ออนไลน์ ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในด้านการโฆษณาสื่อดิจิทัศน์ออนไลน์ของบริษัทฯ รวมถึงจะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ให้แก่กลุ่มบริษัทฯ และเพิ่มโอกาสในเสนอบริการธุรกิจการโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัศน์แก่บริษัทคู่ค้าใน Ecosystem ของบริษัทฯ นอกจากนั้นยังสร้างผลตอบแทน อัตราการเติบโตของทรัพย์สิน ผลกำไร และกระแสเงินสดให้แก่บริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
4) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 616,428,376 หุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ซึ่งออกให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) ครั้งที่ 2 (SABUY-W2) ชุดใหม่ โดยไม่คิดมูลค่า (ศูนย์บาท) โดยมีอัตราการจัดสรรเท่ากับ 5 หุ้นเดิมต่อ 2 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ โดยใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวมีอายุ 2 ปีนับแต่วันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ และมีอัตราการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วยต่อหุ้นสามัญเพิ่มทุน 1 หุ้น ในราคาใช้สิทธิ 5 บาทต่อหุ้น
5) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 80,000,000 หุ้น (คิดเป็น 5.59% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วของบริษัทฯ) มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อรองรับการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) ให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) โดยบริษัทฯ จะออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งเดียวเต็มจำนวน หรือบางส่วนก็ได้ โดยเสนอขายเป็นคราวเดียวหรือเป็นคราวๆ ไปก็ได้
ทั้งนี้ บริษัท ไอ เอส เอฟ โฮลดิ้ง จำกัด ประกอบกิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงิน เป็นหลัก ส่วนบริษัท ไอซอฟเทล (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจการให้บริการและพัฒนาระบบ ระบบโอนสายอัตโนมัติ ระบบฝากข้อความ ศูนย์บริการข้อมูลโทรศัพท์ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ครบวงจร และ บริษัท ซอฟต์เทล คอมมูนิเคชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ประกอบธุรกิจการให้บริการคอลเซ็นเตอร์ ศูนย์บริการข้อมูลโทรศัพท์ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ครบวงจร
ส่วนบริษัท อุ๊ปส์ มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด ประกอบกิจการเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทและบริษัทมหาชนจำกัดอื่นๆ และบริษัท อุ๊ปส์ เน็ตเวิรค์ จำกัด ดำเนินกิจกรรมของบริษัทโฆษณา
บริษัท เรดเฮ้าส์ ดิจิทัล จำกัด ให้บริการด้าน Digital Marketing ให้องค์กรต่างๆ แบบ One Stop Service เริ่มตั้งแต่รับบรีฟจากองค์กร และนำกลับมาวางแผนกลยุทธ์ ไปจนถึงค้นคว้าหาข้อมูล insight ทั้งตัวสินค้าบริการ เพื่อนำเสนอแผนงานแคมเปญการตลาด และแพลตฟอร์มด้านดิจิทัลที่ตอบโจทย์เป้าหมายของลูกค้าในแต่ละแคมเปญ
ทั้งนี้ การเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่ นายอานนท์ชัย, ISF Holding และ MKO Holding จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถดำเนินการตามแผนที่จะเข้าลงทุนในธุรกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ ได้ต่อไป และภายหลังจากการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงในครั้งนี้ ผู้ถือหุ้นจะมีโอกาสได้รับเงินปันผล หากบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มิ.ย. 65)
Tags: SABUY, ซอฟต์เทล คอมมูนิเคชั่น, สบาย เทคโนโลยี, หุ้นไทย, อุ๊ปส์ เน็ตเวิรค์, ไอซอฟเทล