นายกสิณ สุธรรมนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ถือว่ายังมีความท้าทายของตลาดการลงทุนในทุกๆด้าน เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้านที่ยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาด้านเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเพื่อที่จะลดความร้อนแรงของของเงินเฟ้อซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ และหากเงินเฟ้อไม่ชะลอตัวลง ความเสี่ยงของการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะยิ่งสูงขึ้น โดยยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด
โดยแนะนำให้กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก เนื่องจากมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ แต่อย่างไรก็ตามให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของสหภาพยุโรป และ สหรัฐ เนื่องจากมีการพึ่งพาพลังงานจากประเทศรัฐเซียค่อนข้างมาก
สำหรับผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบันปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างสูง และ สูงกว่าดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทยมีดอกเบี้ยสูงถึง 5-6% ต่อปี ซึ่งมองว่าหลังจากนี้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมในประเทศไทยจะหันมารุกตลาดกองทุนตราสารหนี้มากขึ้นในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะกองทุนประเภทไฮยีลด์บอนด์
ในส่วนของการลงทุนในหุ้น แนะนำให้มีสัดส่วนการลงทุนที่ราว 10-20% ของพอร์ตการลงทุน สำหรับตลาดหุ้นไทยให้มองหาหุ้นที่มีความสามารถทนการแข่งขันสูง มีความเข้มแข็ง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาบริษัทจดทะเบียนของไทยถือว่าศูนย์เสียความสามารถในการแข่งขันไปค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตามให้เน้นการลงทุนไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะการกระจายการลงทุนไปในประเทศเวียดนามที่มีโอกาสเติบโตค่อนข้างมากในอนาคต
“ช่วงที่เหลือของปีนี้ยังคงติดตามภาพรวมของเศรษฐกิจว่าจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณของการถดถอยของเศรษฐกิจ เพราะแม้ว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้น คนยังมีกำลังซื้อ และอัตราการว่างงานยังต่ำอยู่ โดยเบื้องต้นคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทำจัดสูงสุดในไตรมาส 3/65 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 4/65 ซึ่งเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน ทำให้การลงทุนยังไม่ดีมาก แต่เริ่มหาจังหวะการเข้าลงทุนทดแทนมากกว่า โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนค่อนข้างดี”นายกสิณ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มิ.ย. 65)
Tags: กสิณ สุธรรมนัส, ตราสารหนี้, ฟินโนมีนา, เงินเฟ้อ