องค์การอนามัยโลก (WHO) มีกำหนดตัดสินใจในวันนี้ (23 มิ.ย.) ว่าจะประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพระดับโลกหรือไม่ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดานักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของแอฟริกา เพราะแอฟริกาเผชิญกับวิกฤตการณ์ดังกล่าวมาหลายปีแล้ว
การพิจารณาเพื่อหาทางรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโรคฝีดาษลิงของ WHO นี้มีขึ้น หลังเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิธีการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 ของ WHO และรัฐบาลทั่วโลก
โรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดได้ยากกว่าโรคโควิด-19 ทั้งยังมีวัคซีนและยารักษาพร้อมสรรพ แตกต่างจากช่วงที่โรคโควิด-19 อุบัติขึ้น แต่ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ยอดผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงนอกแอฟริกาทะลุ 3,000 คนในกว่า 40 ประเทศนับตั้งแต่ตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกในเดือนพ.ค. โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มชายที่มีความสัมพันธ์ทางกายกับเพศเดียวกัน อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว
โรคฝีดาษลิงนั้นเป็นโรคเฉพาะถิ่นในบางพื้นที่ของแอฟริกา โดยก่อให้เกิดอาการคล้ายโรคไข้หวัดและเกิดผื่นตามผิวหนัง อย่างไรก็ดี แอฟริกาตรวจพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อฝีดาษลิงเพียงประมาณ 1,500 รายเท่านั้นนับตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยมีผู้เสียชีวิต 66 คน
“การระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศกำลังพัฒนาไม่ถือเป็นเรื่องฉุกเฉิน ต้องรอให้ระบาดในประเทศพัฒนาแล้วถึงกลายเป็นเรื่องฉุกเฉิน”
ศาสตราจารย์เอ็มมานูเอล นาคูนี รักษาการผู้อำนวยการสถาบันปาสเตอร์ในกรุงบังกี สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการทดลองวิธีรักษาโรคฝีดาษลิงกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มิ.ย. 65)
Tags: WHO, ฝีดาษลิง, องค์การอนามัยโลก, เอ็มมานูเอล นาคูนี