สุพัฒนพงษ์ แจงสภาฯ ยันรัฐบาลดูแลราคาพลังงานควบคู่เสถียรภาพการเงินการคลัง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ตอบกระทู้ถามของนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย และนายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เรื่องการพยุงราคาและการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกขณะนี้แย่ลงกว่าเดิม ไม่เพียงความต้องการพลังงานสูงขึ้นและผลิตไม่ทันเท่านั้น แต่กำลังการผลิตของโรงกลั่นได้ขาดหายไป เพราะหลายโรงกลั่นปิดตัวลงจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้กำลังการผลิตลดลง และราคาปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับประเทศไทยมีการนำเข้าพลังงานมากกว่า 90% รัฐบาลจึงต้องประคับประคองราคาพลังงาน และน้ำมันสำเร็จรูปที่มีผลต่อค่าครองชีพประชาชน พร้อมทั้งคำนึงถึงเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้พยุงราคาดีเซลในอัตราลิตรละ 11-12 บาท รวมถึงการลดภาษีสรรพสามิตจากลิตรละ 3 บาท เป็น 5 บาท ซึ่งในแต่ละเดือนจะต้องใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยอุดหนุนกว่าเดือนละ 20,000 ล้านบาท

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า หากรัฐบาลตรึงราคาน้ำมันจนราคาถูกที่สุดเสมือนประชาชนไม่เดือดร้อนจากปัญหาราคาน้ำมันก็จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินและการคลังของรัฐบาลให้อ่อนแอ และมาตรการของรัฐบาลที่ดำเนินการมายังได้รับการยอมรับจากสถาบันทางด้านการเงินต่างประเทศว่าสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ และยังสามารถรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศให้ฝ่าฝันวิกฤตเศรษฐกิจโลกไปได้

นายสุพัฒนพงษ์ ยังชี้แจงถึงผลประกอบการของ บมจ.ปตท. (PTT) ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังถือหุ้นประมาณ 62% แม้ ปตท.จะได้กำไรมากแต่ก็จะมีการปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอื่นๆ และเป็นค่าบำรุงรักษา และขยายกิจการเพื่อความมั่นคงธุรกิจ ซึ่งเมื่อกระทรวงการคลังได้รับเงินปันผลแล้วก็จะต้องถือเป็นเงินได้ของแผ่นดิน

ส่วนการเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์การใช้เตาอั้งโล่ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงานนั้น นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า เป็นการสื่อสารเพื่อขยายผล เพราะกระทรวงพลังงานเห็นความสำคัญของประชาชนที่ยังใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง และมาเผยแพร่ซ้ำ เพื่อเป็นประโยชน์และอนุรักษ์ ไม่ได้หมายถึงการนำมาใช้ทดแทนเตาแก๊ส

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มิ.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top