นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานเปิดงานเสวนา “เคมี พระเอกหรือผู้ร้าย ครั้งที่ 3” ในหัวข้อ “อินทรีย์-เคมี โอกาสของไทย ภายใต้วิกฤตอาหารโลก” เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยเปิดเผยว่า โลกของเราจะเกิดการขาดแคลนอาหาร เนื่องจากวัตถุดิบหรือผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหารลดลง ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบ ทางเกษตรที่สำคัญที่สุดของโลก
ทั้งนี้ ส.อ.ท. เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ One FTI ผ่านวิสัยทัศน์ “Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand” เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม โดยความร่วมมือของกันของ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ส่งเสริมให้เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีผ่านโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industry: SAI) ในการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งการประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ผลิตกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมในกลุ่มพืชเศรษฐกิจใหม่อีกด้วย
น.ส.เพชรรัตน์ เอกแสงกุล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรแบบ GAP (เกษตรเคมี) เพราะทุกวันนี้ราคาอาหารแพงขึ้น ต้นเหตุเกิดจาก ปัจจัยเริ่มต้น คือผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลน ขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วนจะต้องกลับมาดูความพร้อม และดำเนินการด้านนโยบายที่จะส่งเสริมศักยภาพการเกษตรของเรา
นายสุภัค เหล่าดี สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า ปุ๋ยเคมีไม่ใช่สารพิษ แต่เป็นธาตุอาหารสำคัญของพืชที่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้ภาคการเกษตรไทย จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศมากกว่า 95% ทำให้การควบคุมราคาจึงเป็นไปได้ยาก เกษตรกรจะต้องปรับตัวแสวงหาหนทางสร้างรายได้ให้มากขึ้น
นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ได้ถอดบทเรียนจากประเทศศรีลังกา เรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตร เนื่องจากการเลิกใช้สารเคมีเกษตรเมื่อเม.ย. 64 พบว่า ในระยะเวลาเพียง 6 เดือนหลังประกาศ รัฐบาลศรีลังกาประสบปัญหาหลายประการ จนในที่สุดต้องพิจารณาใหม่ และประกาศให้กลับมาใช้ปุ๋ยเคมีได้เช่นเดิมในเดือนพ.ย. ปีที่ผ่านมา
นายสุรวุฒิ ศรีนาม เกษตรกรผู้ปลูกผักแบบ GAP (เกษตรเคมี) เปิดเผยประสบการณ์และความท้าทายสำหรับเกษตรกรไทยในการเลือกทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรแบบ GAP ว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดโลก แต่มีไม่มากนัก รวมทั้งความท้าทายสำคัญของเกษตรอินทรีย์ คือ การควบคุณภาพ ปริมาณการผลิตต่ำ และผลผลิตไม่มีความต่อเนื่องส่งให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารได้
ด้าน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยและหานวัตกรรมในการเพิ่มศักยภาพในการผลิตพืชอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตแบบอินทรีย์และแบบ GAP สามารถนำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 7 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าในระบบเกษตรปลอดภัยหรือ GAP ทั้งนี้ มีการควบคุมปัจจัยการผลิตอย่างเข้มข้น ทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ
นอกจากนี้ ผู้แทนจาก 4 พรรคการเมือง ยังได้เสนอแนวทางการผลักดันภาคการเกษตรไทยไปสู่ครัวโลก โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ให้ความสำคัญในเรื่องเกษตรเคมีและเกษตรอินทรีย์เหมือนจะเป็นเส้นทางคู่ขนาน แต่นโยบายของพรรคจะผสมผสานทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน มุ่งเน้นทั้งในด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรเคมี และเกษตรอินทรีย์-เคมี จะเป็นยุทธศาสตร์หลักสำหรับอนาคตของประเทศไทย ไม่อยากให้เกิดการแบ่งแยกเป็นกลุ่มเกษตรเคมีหรืออินทรีย์
ด้าน นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า นโยบายของพรรคให้ความสำคัญต่อเกษตรกร ทั้งการเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมี แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ไม่มีการเกษตรแบบใดเป็นพระเอก ต้องมีความสมดุลทั้งสองส่วน หัวใจสำคัญคือการให้องค์ความรู้ต่อเกษตรกร และปรับพฤติกรรมการใช้สารเคมีการเกษตรอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ
ด้าน นายเดชรัต สุขกำเนิด พรรคก้าวไกล ได้เสนอแนวทางจัดการภาคการเกษตรไทย ว่า หัวใจสำคัญคือการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรมากขึ้น คือ 1. แนวทางการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นตอบโจทย์ภายในท้องถิ่น 2. แนวทางผลิตสินค้าแบบเดิมแต่ต้นทุนการผลิตต่ำลง และ 3. แนวทางพัฒนาสินค้าเกษตรสู่ตลาดพรีเมี่ยม
ทั้งนี้ จะต้องปลดล็อคหนี้สิ้นก่อน และเพิ่มงบประมาณที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อเกษตรกร เพื่อให้ท้ายที่สุดเกษตรกรจะสามารถเลือกการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์หรือเคมี และตอบสนองทางเลือกต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วน น.ส.สกุณา สาระนันท์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตรไทย คือเพิ่ม GDP ภาคการเกษตร มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรต้นน้ำ ภายใต้แนวคิด ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ ผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน โดยเพื่อไทยซึ่งเป็นมืออาชีพด้านการบริหารจัดการ สามารถทำนโยบายที่ดีสู่การเพิ่มรายได้ของเกษตรกรให้สำเร็จได้อย่างแน่นอน อย่างที่เคยทำมาแล้วในอดีต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มิ.ย. 65)
Tags: วิกฤตอาหาร, วิกฤติอาหารโลก, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย