นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงประเด็นที่มีข้อเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เข้ามากำกับดูแลค่าการกลั่นน้ำมัน เพื่อช่วยให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลงว่า อำนาจหน้าที่ในเรื่องของราคาน้ำมัน ซึ่งน้ำมันถือเป็นสินค้าที่มีข้อกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแล คือ พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มาตรา 6(2) กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไว้ว่า คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่วางหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน โดยให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการพัฒนาและบริหารพลังงานของประเทศ
ซึ่งหากพิจารณากฎหมายฉบับนี้ จะเห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับราคาพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นการเฉพาะ คือ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดย รมว.พลังงาน เป็นเลขานุการ) ซึ่งการกำหนดราคาหรือการวางหลักเกณฑ์เรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาและบริหารพลังงานแห่งประเทศด้วย เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของกระทรวงพลังงาน
ส่วนแนวคิดที่จะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนพลังงานนั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในมาตรา 5 ได้ให้มีการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานการณ์วิกฤติน้ำมัน
“จะเห็นชัดว่าราคาพลังงาน เป็นเรื่องที่ใครเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่บอกไว้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในภาวะวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง…พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดไว้ว่าใครเป็นผู้ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมาตรา 27(1)โรงกลั่น มาตรา 27(2) ผู้นำเข้า ก็จะเห็นอยู่แล้วว่ากองทุนฯ มีหน้าที่อะไรในเวลาสถานการณ์วิกฤติ ใครควรเข้ามาบริหารจัดการ และใครที่จะมีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุน คือ ผู้ผลิตน้ำมันในประเทศซึ่งเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันด้วย ซึ่งเป็นโรงกลั่น การใช้เงินเข้ากองทุนฯ ให้เป็นไปตามคณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด ประธานคือ กระทรวงพลังงาน ที่กระทรวงพลังงานให้ข่าวคือการใช้อำนาจตามกฎหมายที่กระทรวงพลังงานรับผิดชอบกำกับดูแลอย่างถูกต้องทางกฎหมายที่สุด กรณีใดๆ ที่เป็นสินค้าเฉพาะโดยหลักการของกฎหมาย ต้องไปว่าที่กฎหมายเฉพาะนั้นๆ ก่อน” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนที่มีการถามว่าเหตุใดกระทรวงพาณิชย์ ถึงไม่ใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อดูแลราคาน้ำมัน เนื่องจากกำกับดูแล พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการอยู่นั้น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า โดยหลักการของกฎหมาย หากมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะสำหรับเรื่องใด นักกฎหมายย่อมเข้าใจดีว่าต้องเริ่มจากตรงนั้น เพราะกฎหมายกำหนดไว้ให้เห็นชัดเจนแล้ว ซึ่งถ้าไปดูใน พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในท้ายกฎหมายจะเขียนไว้ว่า การบริหารพลังงานของประเทศ กระจัดกระจายตามหน่วยงานต่างๆดังนั้น เพื่อให้มีเอกภาพจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา เพื่อให้การบริหารจัดการเรื่องพลังงานมีเอกภาพ
“ดังนั้นกฎหมายชัดเจนที่สุด วัตถุประสงค์ ข้อกำหนด ที่มาเรื่องการมีกฎหมายฉบับนี้ ณ เวลานี้ อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจึงอยู่ตามกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว ดังนั้นขอชี้แจงให้เข้าใจว่า ไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่แรก” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ส่วนที่มีคนตั้งคำถามถึงกรณีการกำหนดให้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสินค้าควบคุม อยู่ในอำนาจของประธานคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานโดยตำแหน่งนั้น นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า การประกาศราคาก๊าซ LPG เป็นอำนาจโดยกระทรวงพลังงาน ส่วนกระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่ในส่วนของการกำกับดูแลให้ผู้ค้าไม่ขายเกินราคาที่กำหนดไว้
“หน้าที่กระทรวงพาณิชย์ คือเมื่อกระทรวงพลังงานประกาศราคาออกมาแล้ว ใครขายเกินกว่านี้ กระทรวงพาณิชย์จับ โดยอาศัยมาตรา 29 คือ ผู้ใดจงใจจำหน่ายราคาสูงเกินสมควร มีโทษผิดพระราชบัญญัติราคา เช่น กระทรวงพลังงานแจ้งราคาถังละ 380 บาท ถ้าใครขาย 400 บาท กระทรวงพาณิชย์จับ เป็นต้น อันนี้เป็นตัวอย่างที่จะเห็นว่า LPG ประกาศราคาโดยกระทรวงพลังงานมาตลอด ดังนั้นคำถามคือ เพราะเหตุใดกระทรวงพลังงานประกาศราคา LPG ได้ แต่พอเป็นราคาน้ำมัน เหตุใดจึงมาบอกว่าให้กระทรวงพาณิชย์เป็นคนกำกับดูแล” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
พร้อมย้ำว่า หน่วยงานราชการทุกหน่วยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ กฎหมายใครก็กฎหมายคนนั้น กฎหมายกำหนดความรับผิดชอบอยู่ที่ใด ผู้นั้นเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ควรที่ผู้ใดจะมาบิดเบือนหลักการนี้
ด้าน ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ธุรกิจพลังงานถือเป็นธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะที่มีความซับซ้อนตลอดห่วงโซ่อุปทาน การกำกับดูแลจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญ และมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจด้านพลังงาน รวมทั้งโครงสร้างต้นทุนและราคาพลังงาน ที่สำคัญการตัดสินใจในการกำหนดมาตรการใดๆ จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และพิจารณาถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแล บริหารจัดการ และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการฯ ในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ อีกทั้งยังมีกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศด้วย
“ดังนั้น เป็นหน้าที่ตามกฏหมายของกระทรวงพลังงาน ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ แต่แม้กระทรวงพาณิชย์จะไม่ใช่หน่วยงานหลักแต่ก็พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินการภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่” รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว
พร้อมระบุว่า ปกติการใช้อำนาจ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ของกระทรวงพาณิชย์ จะใช้ในการกำกับดูแลสินค้าทั่วไปที่ไม่มีกฎหมายหรือกลไกเฉพาะ เช่น กรณีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับประชาชน อย่างไรก็ตาม เพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมทางการค้า ได้มีการกำหนดมาตรการให้สถานีบริการน้ำมันปิดป้ายแสดงราคา และมีการตรวจสอบความถูกต้องเที่ยงตรงของหัวจ่ายน้ำมันมาอย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 65)
Tags: lifestyle, กรมการค้าภายใน, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงพาณิชย์, บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร, ราคาน้ำมัน