นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ผู้อำนวยการกองการสื่อสาร พรรคไทยสร้างไทย ในฐานะเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบการทุจริตประพฤติมิชอบ เปิดเผยว่า จะยื่นเรื่องร้องต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับกรณี ส.ว.มีการแต่งตั้งเครือญาติมาเป็นคณะทำงาน เพื่อขอให้ตรวจสอบ ส.ว.ประพฤติมิชอบ และอาจขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 หรือไม่ ภายในวันที่ 22 มิ.ย.นี้
“ผมไม่สามารถปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปได้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับเงินภาษีของพี่น้องประชาชนโดยตรง และอาจขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ ส.ว. และรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ได้ระบุไว้ชัดเจนเรื่องการไม่ให้สมาชิกรัฐสภานำตำแหน่งของตน แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และหากข้าราชการสภาท่านไหนรู้เห็นไปใจก็อาจผิด ม.157 เช่นกัน” นายตรีรัตน์ กล่าว
อนึ่ง โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้รายงานข้อมูลคณะทำงาน ส.ว. ทั้ง 250 คน ณ วันที่ 30 กันยายน 63 พบว่า ส.ว. มีการแต่งตั้งเครือญาติของตนเองเข้ามาเป็นคณะทำงานมากกว่า 50 ราย
ในรายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ส.ว. จะได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 71,230 บาท และได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท ซึ่งเป็นค่าตอบแทนจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ค่าตอบแทนยังไม่รวมส่วนที่เป็นเบี้ยประชุมในคณะกรรมาธิการ เบี้ยเลี้ยงในกรณีที่เดินทางไปนอกสถานที่ และสวัสดิการอื่น ๆ ด้วย
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ขอย้อนไปช่วงที่มีสภานิติบัญติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีส.ส.และส.ว. ทางเจ้าหน้าที่ได้เสนอว่าสนช. 1 คน สามารถมีคณะทำงานได้ 8 คน ตนจึงบอกว่า 8 คนนั้นมากไป จึงขอให้เหลือแค่ 5 ตำแหน่ง โดยตอนนั้นมีปัญหาในเรื่องคนเข้ามาช่วยงาน แต่เมื่อมาเป็นส.ว. เขาก็ไม่ถามอะไรแล้ว เพราะเจ้าหน้าที่ก็ให้ดำเนินการตามระเบียบที่ปฏิบัติมาทุกยุคทุกสมัย คือ ส.ส. และ ส.ว. จะมีคณะทำงาน 8 คน
เมื่อถามถึงกรณีที่จะมีคนไปร้องคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) ตรวจสอบว่าการที่ ส.ว. ตั้งญาติเป็นคณะทำงานนั้น ผิดจริยธรรมหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่าไม่ผิด เพราะไม่ผิดกฎหมายแล้วถามว่าจะไปผิดจริยธรรมได้อย่างไร เพราะทุกอย่างมีกฎหมายและระเบียบ อีกทั้งยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราอะไรทั้งสิ้น พูดง่ายๆ คือใช้ระเบียบแบบนี้มาก่อนที่ตนจะมาเป็น ส.ว. ด้วยซ้ำ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มิ.ย. 65)
Tags: ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส, ปปช., พรรคไทยสร้างไทย