นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) ในฐานะประธานคณะกรรมการ MIU กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า คณะกรรมการ MIU โดยทีมวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ร่วมกับกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการศึกษาการประเมินความคุ้มค่าของ Evusheld สำหรับป้องกันโควิด-19 ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องในประเทศไทย โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ในการทำนายต้นทุนและผลลัพธ์ทางสุขภาพของการให้ Evusheld ในผู้ป่วย 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยล้างไต ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องภูมิคุ้มกันของตนเอง (autoimmune diseases) โดยอ้างอิงข้อมูลจากการวิจัยเชิงทดลอง PROVENT trial และข้อมูลผู้ป่วยจริงในประเทศไทย
นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค ส่วน Evusheld เป็นแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวสองชนิด ได้แก่ tixagevimab และ cilgavimab ได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินสำหรับป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป และน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 40 กิโลกรัม ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนธันวาคม 64 และยุโรปเมื่อเดือนมีนาคม 65 โดยมีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องปานกลางถึงรุนแรงที่อาจตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนโควิดได้ไม่ดี หรือคนที่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีน หรือไม่ยอมฉีดวัคซีน แต่พบว่ามีราคาสูงและยังไม่มีการศึกษาเรื่องความคุ้มค่าของการให้ Evusheld ในการป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ
โดยงานวิจัยนี้พบว่า Evusheld สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 การป่วยหนักและเสียชีวิตในผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่มในระยะเวลา 6 เดือนได้ นอกจากนี้ การตรวจคัดกรองระดับภูมิคุ้มกันก่อนให้ Evusheld จะทำให้การใช้ Evusheld ในผู้ป่วยมีความคุ้มค่ามากขึ้น อีกทั้งยังลดภาระงบประมาณในการจัดซื้อ Evusheld ได้มากกว่าครึ่ง ขณะที่ราคา Evusheld ที่ใช้ในแบบจำลองเท่ากับ 25,000-29,000 บาทต่อคน สำหรับระยะเวลา 6 เดือน ทำให้ Evusheld มีความคุ้มคำสำหรับผู้ป่วยล้างไต และหากต้องการให้ Evusheld มีความคุ้มค่าในบริบทประเทศไทย รัฐบาลควรต่อรองราคาให้เหลือ 15,000 บาทสำหรับใช้ในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ และ 7,800 บาทสำหรับใช้ในผู้ป่วยเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันตนเอง
ในอนาคต จำเป็นต้องมีระบบติดตามผู้ป่วยหลังได้รับ Evusheld เพื่อประเมินระดับของแอนติบอดีในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสในร่างกายกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่พบในประเทศไทยเป็นระยะ นอกจากนี้ การทำสัญญาจัดซื้อ Evusheld ควรทำในระยะสั้น หรือมีเงื่อนไขในการยกเลิกการซื้อในสถานการณ์ที่เชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่เกิดการหลบหลีกภูมิต้านทานจาก Evusheld ซึ่งได้รายงานให้ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข รับทราบรายงานผลการศึกษาแล้ว จะได้เตรียมความพร้อมในการนำมาใช้ในประเทศไทยเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มิ.ย. 65)
Tags: COVID-19, Evusheld, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, รุ่งเรือง กิจผาติ, โควิด-19