สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการโฆษณากองทุนรวมและการส่งเสริมการขายหน่วยลงทุน เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความยืดหยุ่นในการโฆษณาและส่งเสริมการขายหน่วยลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของการประกอบธุรกิจ โดยยังอยู่บนพื้นฐานของการคุ้มครองผู้ลงทุน และการกำกับดูแลที่เหมาะสม รวมทั้งลดกฎเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อน ตามแนวทาง Regulatory Guillotine*
ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการโฆษณากองทุนรวมและการส่งเสริมการขายหน่วยลงทุน ที่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2558 ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุนและตัวแทนขายหน่วยลงทุนมีความยืดหยุ่นในการโฆษณาและการส่งเสริมการขายหน่วยลงทุน พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมการลงทุนของผู้ลงทุนเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเพื่อลดความซ้ำซ้อนของกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
(1) การเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารคำเตือนแก่ผู้ลงทุน โดยปรับคำเตือนให้เหลือเฉพาะที่จำเป็น เพื่อให้ผู้ลงทุนรับรู้คำเตือนที่จำเป็นได้ชัดเจนขึ้น และเพื่อผ่อนคลายข้อกำหนดด้านการโฆษณากองทุนรวมผ่านสื่อที่มีข้อจำกัดด้านเวลาหรือพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การโฆษณากองทุนรวมทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
(2) การสนับสนุนให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดทุน (level playing field) โดยเพิ่มข้อกำหนดให้การให้บริการซื้อขายกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านการโฆษณาและการส่งเสริมการขายหน่วยลงทุน เช่นเดียวกับกองทุนรวมไทย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ
(3) การลดความซ้ำซ้อนของหลักเกณฑ์ โดยร่วมกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) พิจารณายกเลิกหลักเกณฑ์การส่งเสริมการขายหน่วยลงทุนที่ซ้ำซ้อนกับ AIMC และให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามประกาศของ AIMC ซึ่งสามารถพิจารณาปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจได้อย่างคล่องตัวขึ้น โดยกฎเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามหลักการที่ ก.ล.ต. กำหนด ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ด้วย
หลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ก.ล.ต. ขอย้ำให้ผู้ลงทุนรับทราบว่า ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนมีความหลากหลาย ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่สนใจให้เข้าใจถึงลักษณะและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน เช่น หน่วยลงทุน สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (factsheet) เป็นต้น รวมทั้งควรศึกษาเกี่ยวกับสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองอีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 65)
Tags: ก.ล.ต., กองทุนรวม, ตลาดทุน, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, หน่วยลงทุน