พาณิชย์ ไฟเขียวต่างชาติทำธุรกิจในไทยพ.ค. 41 ราย เงินลงทุนกว่า 1.8 หมื่นลบ.

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนพ.ค. 65 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 41 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 19 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 22 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 18,695 ล้านบาท

“คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 19 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และหมู่เกาะเคย์แมน ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 1,318 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 753 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน และลงทุนผ่านการขอหนังสือรับรองประกอบธุรกิจฯ จำนวน 17,377 ล้านบาท”

นายสินิตย์ กล่าว

สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเดือนพ.ค. 65 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ อันจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อาทิ

  • บริการการชำระเงินภายใต้การกำกับในประเภทการให้บริการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
  • บริการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับองค์กรธุรกิจ (Enterprise Software) และสารสนเทศที่มีรูปแบบดิจิทัล (Digital Content)
  • บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยง เพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics รวมถึง Predictive Analytics
  • บริการรับจ้างผลิต Integrated Circuit (IC)
  • บริการขุดเจาะปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย เป็นต้น

ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ในเดือนพ.ค. 65 นี้ นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 12 ราย คิดเป็น 29% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมดในเดือนนี้ โดยมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 15,162 ล้านบาท คิดเป็น 81% ของเงินลงทุนทั้งหมด

ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 5 ราย ลงทุน 13,782 ล้านบาท สิงคโปร์ 3 ราย ลงทุน 348 ล้านบาท และเนเธอร์แลนด์ 1 ราย ลงทุน 700 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1. บริการรวบรวม จัดเก็บ จัดส่งและประมวลผลข้อมูล การประสานงาน รวมถึง การควบคุมการใช้งานสินค้า 2. บริการประกอบติดตั้งชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ 3. บริการรับจ้างผลิตกล้องถ่ายรูปดิจิทัล (Digital Camera) ชุดเลนส์ (Camera Lens) และชิ้นส่วนสำหรับกล้องถ่ายรูปดิจิทัล เป็นต้น

รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญ หรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมหลุมเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการสำหรับการจัดการโปรแกรมประยุกต์ สำหรับองค์กรธุรกิจ (Multiverse Platform) และองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ในการขยายหลอดเลือด เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top