นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติให้ต่ออายุสินค้าและบริการควบคุมออกไปอีก 1 ปี โดยสินค้าควบคุมมีทั้งหมด 46 รายการ และบริการควบคุมอีก 5 รายการ รวมเป็น 51 รายการ ซึ่งจะมีการต่ออายุตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65 – 30 มิ.ย.66
สินค้าและบริการควบคุมดังกล่าว ประกอบด้วย
- หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ เช่น กระดาษลูกฟูก กระดาษเหนียว กระดาษพิมพ์และเขียน
- หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง เช่น ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ รถจักรยานยนต์
- หมวดปัจจัยทางการเกษตร เช่น กากดีดีจีเอส เครื่องสูบน้ำ ปุ๋ย ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์
- หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเชื้อเพลิง
- หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ได้แก่ ยารักษาโรค เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค
- หมวดวัสดุก่อสร้าง เช่น ท่อพีวีซี ปูนซีเมนต์ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ
- หมวดสินค้าเกษตร เช่น ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ผลปาล์มน้ำมัน มะพร้าวผลแก่
- หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น แชมพูผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ผ้าอนามัย
- หมวดอาหาร เช่น ไข่ไก่ นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว แป้งสาลี สุกร เนื้อสุกร
- หมวดอื่นๆ คือ เครื่องแบบนักเรียน
- หมวดบริการ เช่น บริการซื้อขาย และ/หรือบริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ
นอกจากที่ ที่ประชุม กกร.ยังพิจารณาประเด็นการจำหน่ายชุดตรวจการเชื้อโควิดด้วยตัวเอง (ATK) ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อนุญาตให้จำหน่ายได้ใน 4 ช่องทาง คือ 1. สถานพยาบาล 2. หน่วยงานของรัฐ 3. ร้านขายยา 4. สถานที่อื่นๆ ที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด โดยปรับปรุงแก้ไขให้สามารถจำหน่ายได้ในทุกช่องทาง ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีประกาศกำหนดแล้ว ดังนั้น กกร. จะได้ปรับปรุงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ให้สอดคล้องกัน เพื่อให้ประชาชนสามารถหาซื้อ ATK ได้ในทุกช่องทาง ทั้งออฟไลน์และออนไลน์
อย่างไรก็ดี ในส่วนของราคาจำหน่ายชุดตรวจ ATK จากการสำรวจพบว่าราคาถูกลงมาก เช่น ราคาที่จำหน่ายในระบบออฟไลน์ตามร้านขายยา สถานพยาบาล ได้ปรับลดลงมาถึง 30% ส่วนราคาที่จำหน่ายในระบบออนไลน์ ปรับลดลงมาถึง 42%
นายจุรินทร์ ยังได้กล่าวถึงการดูแลราคาสินค้าว่า กระทรวงพาณิชย์จะขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ช่วยตรึงราคาไว้ให้นานที่สุด ตราบเท่าที่ผู้ประกอบการยังพออยู่ได้ และไม่ขาดทุนจนหยุดผลิต โดยยอมรับว่าการบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลกับทุกฝ่าย เป็นเรื่องยาก และเป็นประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์ต้องดูแลด้วยความระมัดระวัง อย่างไรก็ดี จากที่ติดตามสถานการณ์ในขณะนี้ ยังไม่พบว่ามีสินค้าใดขาดตลาด
ส่วนสินค้าน้ำมันพืช โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มขณะนี้ตั้งอนุกรรมการ 5 ฝ่ายแล้ว ประกอบด้วย ตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนโรงสกัด ตัวแทนโรงกลั่นน้ำมันบรรจุขวด ตัวแทนผู้ส่งออก และตัวแทนส่วนราชการ ซึ่งจะมีอำนาจหน้าที่ติดตามกำกับดูแลว่าควรกำหนดสต๊อกน้ำมันปาล์มสำหรับการบริโภค รวมทั้งดูแลให้เกิดความสมดุล ทั้งปริมาณการผลิตผลปาล์ม การสกัด การผลิตน้ำมันเพื่อบริโภค
“เท่าที่ติดตาม ยังไม่มีสินค้าขาดตลาด ซึ่งมีสินค้าขอขึ้นราคาในบางรายการ กระทรวงต้องดูในรายละเอียด ไม่ใช่ยื่นแล้วจะอนุญาตได้เลย ต้องดูลึกๆ ในแต่ละตัวว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นในปริมาณเท่าใด ถ้าต้องขึ้นราคา ต้องเป็นอย่างไร…มีการขอปรับขึ้นมาในสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการ ส่วนใหญ่เราพยายามตรึงราคาไว้ ที่ผ่านมา ตรึงมาหลายเดือนแล้ว เพราะถ้าปล่อยให้ตามปกติ เช่น แทนที่ราคาจะไปที่ 20 บาท อาจไปถึง 25-30 บาท เราพยายามตรึงไว้ ถ้าปรับลดลงได้ ก็จะปรับลด” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์
ส่วนสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้น แม้จะมีการขอปรับขึ้นราคาหลายครั้ง แต่ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีการอนุญาต และยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้พยายามตรึงราคาไว้ให้นานที่สุด
“ผู้ประกอบการก็ให้ความร่วมมืออย่างดี เพราะต่างทราบว่าจะกระทบกับประชาชนจำนวนมาก ผู้มีรายได้น้อยจำนวนมาก ที่ต้องพึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ต้องขอบคุณผู้ประกอบการที่ช่วยตรึงราคาไว้” นายจุรินทร์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มิ.ย. 65)
Tags: lifestyle, กระทรวงพาณิชย์, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ราคาสินค้า