พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาการบริหารจัดการน้ำนานาชาติ “Water and Waste Management International Conference & Expo Thailand: Water for Life” ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นเข็มทิศในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (61 – 80) ซึ่งมีเป้าหมายให้ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล
โดยมีกลไกในการขับเคลื่อนแผนแม่บทที่สำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำของประเทศ และมีเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน 6 เครื่องมือ ได้แก่ 1.แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2.พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 3.ระบบบูรณาการแผนงานและโครงการไทย วอเตอร์ แพลน (Thai Water Plan) 4.ผังน้ำและการใช้ประโยชน์ที่ดินในขอบเขตผังน้ำ 5.ปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ 6.ศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายในการพัฒนากลไกและส่งเสริมการใช้นวัตกรรมด้านน้ำ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ลดการใช้ และเพิ่มการหมุนเวียนน้ำในทุกภาคการผลิต รวมทั้งสื่อสารข้อมูลสร้างความตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาป่าต้นน้ำ การกักเก็บน้ำอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างหลักประกันการเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการดำเนินการทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 62 – 64 มีสถิติความเสียหายจากอุทกภัยลดลง และในปี 2563-2564 ไม่มีพื้นที่ที่ต้องประกาศว่าเป็นเขตประสบภัยแล้ง
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเดินหน้าพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ และสนับสนุนโครงการในพระราชดำริที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และเพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยสิ่งสำคัญคือ มีองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งภายในประเทศ และกับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้สัมฤทธิ์ผล รัฐบาลจึงได้เน้นย้ำให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องบูรณาการองค์ความรู้กับทุกหน่วยงาน และองค์กร เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการลุ่มน้ำ และเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ ให้เป็นข้อกลางที่แข็งแรงและยืดหยุ่น เชื่อมโยงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้สัมฤทธิ์ผล รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพของภาครัฐและภาคเอกชน และสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ เข้าถึงข้อมูล และร่วมเป็นพลังในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยและของโลกที่แข็งแรงต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเป็นประธานในงานสัมมนาฯ พล.อ.ประยุทธ์ ปฎิเสธตอบคำถามกรณีฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจและหลังจากฝ่ายค้านยื่นอภิปรายฯ นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ค่อนข้างสงวนท่าที และพยายามไม่พูดถึงประเด็นดังกล่าว โดยปฏิเสธที่จะตอบคำถามผู้สื่อข่าวตั้งแต่การลงพื้นที่ จ.สกลนคร รวมทั้งเมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มิ.ย. 65)
Tags: กักเก็บน้ำ, ทรัพยากรน้ำ, ประยุทธ์ จันทร์โอชา