นายไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุในบทความ “เติมเต็มความต้องการเงินทุนของ SME/Startup ด้วยทางเลือกระดมทุนในตลาดทุน”ว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบธุรกิจ สำหรับกิจการขนาดเล็กหรือกิจการเริ่มต้น (SME/Startup) ที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งที่หลายแห่งมีนโยบายทางธุรกิจที่มีศักยภาพ ซึ่งอาจทำให้เสียโอกาสในการเติบโตในทางธุรกิจ
สำนักงาน ก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทย มีนโยบายในการผลักดันให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน (Capital Market for All) รวมถึงภาคธุรกิจ SME/Startup ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย ก.ล.ต. ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่กลางปี 62 เพื่อให้กิจการของคนตัวเล็กเข้าถึงตลาดทุนโดยสามารถระดมทุนผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของกิจการได้
ระดมทุนในรูปแบบ SME-PP
สำหรับ SME/Startup ที่เป็นบริษัทจำกัดและมีขนาดเล็กหรือกิจการที่เพิ่งเริ่มต้นประกอบธุรกิจ การระดมทุนจากบุคคลเพียงไม่กี่รายในวงแคบด้วยต้นทุนที่ต่ำเป็นช่องทางการระดมทุนที่สำคัญและตอบโจทย์กับกิจการกลุ่มนี้
ก.ล.ต. จึงได้ออกหลักเกณฑ์รองรับการระดมทุนให้ SME/Startup ที่เป็นบริษัทจำกัดสามารถเสนอขายหลักทรัพย์ต่อผู้ลงทุนในวงจำกัด (SME-PP) ได้ โดยกิจการสามารถเสนอขายหุ้นหรือหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture) ให้แก่ผู้ลงทุนรวมถึงพนักงานได้โดยตรงโดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. เพียงแค่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุนและนำส่งเอกสารให้กับ ก.ล.ต. ตามที่กำหนด ซึ่งจะช่วยให้ระดมทุนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือจูงใจให้บุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานกับบริษัทได้
ระดมทุนในรูปแบบ Crowdfunding
ในกรณีที่ SME/Startup ต้องการระดมทุนจากบุคคลจำนวนมาก (แบบคนละเล็กละน้อย) สามารถเลือกระดมทุนในรูปแบบ Crowdfunding ได้ เนื่องจากเปิดให้ SME/Startup ทั้งที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน สามารถระดมทุนโดยเสนอขายหุ้นหรือหุ้นกู้ต่อผู้ลงทุนหมู่มากผ่านผู้ให้บริการตัวกลาง (funding portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ได้
จนถึงปัจจุบันมีกิจการที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนโดยการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อผู้ลงทุนในวงจำกัดและระดมทุนในรูปแบบ Crowdfunding แล้ว 187 บริษัท มูลค่าการระดมทุนรวมกว่า 2,580 ล้านบาท
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการลงทุนในกิจการ SME/Startup ซึ่งธุรกิจอาจยังอยู่ในช่วงตั้งต้นนั้น มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์จากการที่ไม่มีตลาดรองสำหรับซื้อขาย โดยเฉพาะกรณีหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่ผู้ลงทุนอาจต้องถือลงทุนในระยะยาว
ก.ล.ต. จึงกำหนดกรอบการเสนอขายสำหรับการระดมทุน 2 รูปแบบนี้ให้อยู่ในวงที่จำกัดเฉพาะผู้ลงทุนที่มีความเข้าใจในธุรกิจของกิจการ หรือมีความเชี่ยวชาญในการลงทุนและรับความเสี่ยงจากการลงทุนในลักษณะนี้ได้ เช่น ผู้ลงทุนสถาบัน รวมถึงผู้ลงทุนประเภทกิจการเงินร่วมลงทุน (private equity) นิติบุคคลร่วมลงทุน (venture capital) และผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (angel investor) ที่โดยปกติจะเน้นลงทุนในกิจการในช่วงเริ่มต้นที่มีความเสี่ยงสูง โดยแลกกับผลตอบแทนที่สูงมากหากกิจการดังกล่าวสามารถเติบโตได้ตามที่คาดหวัง และถูกซื้อกิจการโดยบริษัทขนาดใหญ่หรือสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งผลตอบแทนที่ได้ รับจากกิจการที่ประสบความสำเร็จไม่กี่กิจการจะเพียงพอที่จะสามารถชดเชยกับการขาดทุนจากกิจการอื่น ๆ ที่ล้มเหลวหรือไม่เป็นไปตามคาดได้ แต่สำหรับการระดมทุนจากผู้ลงทุนรายบุคคล ก.ล.ต. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการจำกัดวงเงินระดมทุนหรือจำนวนผู้ลงทุนรายบุคคลเพื่อควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในวงที่จำกัด
ระดมทุนในรูปแบบ SME-PO และซื้อขายได้ในตลาดรอง
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเติมเต็มช่องว่างให้กิจการ SME/Startup ที่เติบโตในระดับหนึ่งแล้วและต้องการระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงที่กว้างขึ้นและมีตลาดรองสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนหุ้นของกิจการ ก.ล.ต. จึงได้ออกหลักเกณฑ์การระดมทุนในรูปแบบ SME-PO ซึ่งเปิดให้กิจการ SME/Startup ที่เป็นบริษัทมหาชน สามารถระดมทุนในวงกว้าง โดยเสนอขายหุ้นให้กับผู้ลงทุนที่มีความรู้และประสบการณ์การลงทุน รวมถึงมีสินทรัพย์สูงในระดับที่สามารถรับความเสี่ยงได้ เช่น ผู้ลงทุนสถาบัน, private equity, venture capital, angel investor
รวมถึงผู้ลงทุนรายบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้ โดยสามารถนำหุ้นดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ซึ่งเป็นตลาดรองแห่งใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการซื้อขายหุ้น SME/Startup ซึ่งจะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนที่สามารถซื้อขายในตลาดรองไว้เช่นเดียวกับการเสนอขายในตลาดแรก
สำหรับการกำกับดูแลกิจการ SME/Startup ที่ระดมทุนในรูปแบบ SME-PO และเข้าจดทะเบียนใน LiVEx นั้น ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดภาระและต้นทุนกับ SME/Startup มากเกินไป เช่น ไม่กำหนดให้มีที่ปรึกษาทางการเงิน และไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อ ก.ล.ต.ในการเสนอขายหุ้น และคุณสมบัติของกิจการที่จะเข้าจดทะเบียน รวมถึงหน้าที่ภายหลังการเสนอขายผ่อนปรนมากกว่าการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยยังคงมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนตามกฎหมาย ทั้งตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
SME/Startup ที่สนใจสามารถยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเพื่อเสนอขายหุ้นตามหลักเกณฑ์ SME-PO และเข้าจดทะเบียนใน LiVEx ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยปัจจุบันมีจำนวน 1 บริษัทที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเข้ามาเรียบร้อยแล้ว และมีอีกหลายบริษัทที่แสดงความสนใจและอยู่ระหว่างการเตรียมตัวที่จะระดมทุนผ่านช่องทางนี้เพิ่มเติมในอนาคต
ทั้งนี้ ก.ล.ต. หวังว่า นโยบายของ ก.ล.ต. ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ SME/Startup เข้าถึงตลาดทุนและระดมทุนผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับความต้องการและขั้นในการพัฒนาและเติบโตของกิจการ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ SME/Startup สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่เหมาะสมได้มากขึ้น และมีส่วนทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มิ.ย. 65)
Tags: ก.ล.ต., ตลาดทุน, ไพบูลย์ ดำรงวารี