กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกประกาศเรื่องมาตรการและการเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ดังนี้
1.ให้โรงเรียนสังกัด กทม.เป็นพื้นที่ “ปลอดกัญชาหรือกัญชง”
2.งดจำหน่ายอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงภายในโรงเรียนสังกัด กทม.
3.ห้ามโฆษณาอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงภายในโรงเรียนสังกัด กทม.
4.ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาภายในโรงเรียนสังกัด กทม.ปฏิบัติตนป็นแบบอย่างแก่นักเรียน และกวดชันดูแลนักเรียนมิให้มีการบริโภคกัญชาหรือกัญชง
5.ให้โรงเรียนสังกัด กทม.มุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงและอันตรายจากกัญชาหรือกัญชงแก่นักเรียนด้วยการบูรณาการเข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมต่างๆ ในการเรียนการสอนทุกระดับ
6.ให้โรงเรียนสังกัด กทม.มีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมนักเรียนตามความถนัดหรือความสนใจ โดยสอดแทรกและเน้นย้ำเรื่องพิษภัยของกัญชาหรือกัญชง
7.ให้โรงเรียนสังกัด กทม.ประชาสัมพันธ์เรื่องโทษของการใช้กัญชาหรือกัญชงที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักเรียน
8.ประสานความร่วมมือแจ้งนโยบายการเฝ้าระวังปัญหาฯ แก่ผู้ปกครอง ชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้ารอบโรงเรียนเฝ้าระวังไม่ให้มีการจำหน่าย อาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง
9.ให้ผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนสังกัด กทม.ประสานความร่วมมือกับสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักการศึกษา และสำนักงานเขต เพื่อบูรณาการการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญซาหรือกัญชงในโรงเรียนสังกัด กทม.อย่างใกล้ชิด
น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวจะเป็นแนวทางการเฝ้าระวังกัญชาในสถานศึกษา เพื่อให้โรงเรียนมีสิทธิ์ตรวจตราหรือขอทราบประเภทอาหาร-ขนม หรือสิ่งใดๆ ก็ตามที่เป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้กัญชาแอบแฝงหรือเจือปนเข้าสู่สถานศึกษาหรือโรงเรียนได้ รวมถึงการให้สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักการศึกษา และสำนักงานเขต ประสานการทำงานในรูปแบบการส่งต่อข้อมูลกันอย่างรวดเร็วที่สุด โดยสิ่งสำคัญคือ แนวทางการปฏิบัติ และข้อควรระวัง ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ศูนย์บริการสาธารณสุข เครือข่ายเฝ้าระวังต่างๆ โรงพยาบาล และสำนักงานเขต จะต้องมีข้อมูลในมือเป็นชุดข้อมูลเดียวกัน ตรงกันทั้งหมด
“ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เร่งเรื่องมาตรการดูแลประเด็นกัญชาในกลุ่มโรงเรียน ซึ่งต้องระมัดระวังมากเพราะมีเด็กและเยาวชนที่อายุไม่เกิน 18 หรือ 20 ปี ที่ทางการแพทย์ยังไม่แนะนำให้ใช้กัญชา”
น.ส.ทวิดา กล่าว
สำหรับมาตรการเฝ้าระวังในโรงเรียนสังกัด กทม.ทั้ง 437 แห่ง จะมีครูพยาบาล มีบุคคลากรทำหน้าที่ในการดูแลอาหาร ขนม สวัสดิการต่างๆ ที่จะเข้าสู่โรงเรียน ดังนั้นต้องจัดการกำกับไม่ให้มีกัญชาในอาหาร หรือไม่ให้มีการเอากัญชา หรือผลิตภัณฑ์กัญชาใดๆ เข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมของโรงเรียน ด้วยเหตุผลที่ว่าจะปล่อยให้เกิดการบริโภคกัญชาในเด็กไม่ได้ เราต้องกำกับควบคุมเรื่องนี้ค่อนข้างสูง นี่คือเรื่องของความเสี่ยงที่จะมีสารเข้ามาอยู่ในบริเวณโรงเรียน
ขณะเดียวกันต้องสร้างความรู้ความเข้าใจและสภาพแวดล้อมของเด็กนักเรียนเกี่ยวกับเรื่องกัญชาด้วย ซึ่งขณะนี้ทุกโรงเรียน กทม. มีนโยบายแล้วว่าต้องมีการให้ความรู้ สื่อสารให้เด็กเข้าใจง่าย รวมถึงการดึงอาสาสมัครโรงเรียน (อสร.) มามีบทบาทเพิ่มเติมในเรื่องกัญชา โดยก่อนหน้านี้ อสร.อาจจะเน้นเรื่องเฝ้าระวังให้ความรู้เรื่องบุหรี่ สารมึนเมา สารเสพติด แต่ตอนนี้จะให้เน้นให้ความรู้เรื่องกัญชาด้วย
นอกจากนี้จะต้องช่วยกันดูแลสังเกตสุขภาพเด็กนักเรียนเมื่ออยู่ที่โรงเรียนว่า มีภาวะอาการที่ทำให้สงสัยว่าไปรับกัญชามาจากครอบครัวหรือชุมชนภายนอกโรงเรียนด้วยหรือไม่ โดยให้พยาบาลจากศูนย์บริการสาธารณสุขเข้าไปยังโรงเรียนถี่ขึ้น ซึ่งแต่เดิมจะเข้าโรงเรียนเพื่อตรวจสุขภาพนักเรียนเชิงรุก ต่อจากนี้จะให้เข้าไปเพื่อให้ความรู้และช่วยกำกับดูแลสภาพแวดล้อมโรงเรียนและสังเกตว่ามีสัญญาณบ่งชี้อะไรที่ก่อให้เกิดอันตรายกับเด็กนักเรียนหรือไม่ เพราะเด็กนักเรียนของ กทม. ไม่ควรมีภาวะเสี่ยงหรือภาวะที่ไม่ปลอดภัย โดย กทม.ให้ความสำคัญประเด็นนี้มากเช่นกัน
ขณะที่สภาพแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่เขตต่างๆ กทม.จะต้องมีการเฝ้าระวังและการรายงานข้อมูลที่กระชับฉับไวขึ้น หาวิธีสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงประโยชน์หรือผลกระทบระดับต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้กัญชา เพื่อให้ใช้อย่างระมัดระวัง ส่วนประชาชนทั่วไปต้องขอความร่วมมือช่วยกันดูแลความปลอดภัยของลูกหลานและตัวเอง หากจะบริโภคอาหารควรสังเกตหรืออาจใช้วิธีการสอบถามผู้ขายว่ามีส่วนประกอบหรือไม่ เพราะบางรายอาจจะเกิดอาการแพ้ได้ ขอให้ระมัดระวัง หาข้อมูลให้มากขึ้น หากต้องใช้ ขอให้ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของตนเองจะดีกว่า
ส่วนกรณีถ้าเจอเคสฉุกเฉินในเด็กนักเรียนนั้น กทม.มีระบบเฝ้าระวังแบบปฐมภูมิมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เพื่อเฝ้าระวังระบบสุขภาพ ซึ่งในแง่ของโรงพยาบาลและเครื่องมือแพทย์ กทม.มีพร้อมรองรับอยู่แล้ว แต่สำหรับเรื่องกัญชานั้น การดูแลช่วยเหลือเคสนักเรียนให้ไวที่สุดจะต้องเน้นระบบปฐมภูมิให้รวดเร็วมากขึ้น เริ่มที่ครูพยาบาลที่ประจำโรงเรียนและบุคลากรของโรงเรียนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ได้รับการแนะนำจากศูนย์บริการสาธารณสุข มีระบบการส่งต่อจากโรงเรียนมายังศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่หรือโรงพยาบาลในสังกัด ทั้งหมดนี้จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุด
ด้านการประเมินสถานการณ์แนวโน้มความเสี่ยงของกัญชาที่จะเข้าสถานศึกษานั้นอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นไปได้ รวมถึงการเกิดขึ้นในชุมชนที่เด็กๆ ต้องใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น เพราะกัญชาขณะนี้สามารถใช้ได้เสรีแล้ว จะต้องเฝ้าระวังและออกมาตรการเพื่อให้เท่าทันด้วย ซึ่งนอกเหนือจากการเฝ้าระวัง จะต้องมีการส่งตัวช่วยเหลือให้ไว การเข้มงวดในโรงเรียน รวมถึงการให้องค์ความรู้แก่ครู เด็กนักเรียน และผู้ปกครองควบคู่กันไป
“ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้ ใช้อย่างรู้เท่าทันในปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัย เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงทั้งในด้านการแพทย์ สาธารณสุข สุขภาพ และเศรษฐกิจ”
น.ส.ทวิดา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มิ.ย. 65)
Tags: กทม., กรุงเทพมหานคร, กัญชง, กัญชา, ทวิดา กมลเวชช, สถานศึกษา, โรงเรียน