ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงในวันพุธที่ 15 มิ.ย.ตามเวลาสหรัฐ โดยระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยในไตรมาส 1 ปีนี้ ขณะที่ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงภาวะไร้สมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ อันเป็นผลมาจากโรคระบาด, ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง
การที่รัสเซียใช้กำลังทหารรุกรานยูเครนนั้น กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งประชาชนและเศรษฐกิจ โดยการรุกรานยูเครนและเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กำลังเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก นอกจากนี้ การที่จีนล็อกดาวน์เมืองสำคัญเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังอาจทำให้ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานย่ำแย่ลงอีก โดยคณะกรรมการ FOMC ให้ความสนใจเรื่องความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก
คณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการได้ตัดสินใจปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% และคาดว่าการปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในวันข้างหน้านั้นจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม
- “พาวเวล” ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% เดือนหน้า
- เฟดหั่นคาดการณ์ GDP สหรัฐเหลือ 1.7% ในปีนี้ จากเดิม 2.8%
- เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด ส่งสัญญาณขึ้นอีก 1.75% ในปีนี้
นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ตามที่ได้อธิบายไว้ในแผนการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟด (Plans for Reducing the Size of the Federal Reserve’s Balance Sheet) ซึ่งมีการเผยแพร่พร้อมกับแถลงการณ์เดือนพ.ค. โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%
ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการจะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการจะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการจะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ
สำหรับกรรมการเฟดผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม เอช พาวเวล ประธานเฟด, จอห์น ซี วิลเลียมส์ รองประธานเฟด, มิเชล ดับเบิลยู โบวแมน, ลาเอล เบรนาร์ด, เจมส์ บูลลาร์ด, ลิซา ดี คุก, แพทริค ฮาร์เกอร์, ฟิลลิป เอ็น เจฟเฟอร์สัน, ลอเร็ตตา เจ เมสเตอร์ และคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์
ส่วนผู้ที่ออกเสียงคัดค้านการดำเนินนโยบายการเงินครั้งนี้ได้แก่ เอสเธอร์ แอล จอร์จ ซึ่งต้องการให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.50%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มิ.ย. 65)
Tags: Fed, ดอกเบี้ย, ธนาคารกลางสหรัฐ, นโยบายการเงิน, เฟด, แถลงการณ์