ส.โรงงานน้ำตาล ยื่นหนังสือนายกฯ ค้านเพิ่ม “กากอ้อย” ในคำนิยามผลพลอยได้ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯ

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เปิดเผยว่า ฝ่ายโรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมนี้โดยตรง ไม่ได้รับสิทธิให้เข้าร่วมในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับใหม่ ดังนั้น โรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงงานทั่วประเทศได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เพื่อยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ประธานวุฒิสภา, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, ประธานคณะกรรมธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย, รมว.อุตสาหกรรม รมว.พาณิชย์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และเลขาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับใหม่ ที่จะเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 15 มิ.ย. นี้ หากมีการเพิ่มคำว่า ‘กากอ้อย’ อยู่ในคำนิยามอีกครั้ง ทั้งที่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีมติเสียงข้างมาก ให้ตัดคำว่า ‘กากอ้อย’ ออกจากคำนิยามแล้ว

นายปราโมทย์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง ไม่เห็นด้วยในการเพิ่มคำนิยามดังกล่าว เพราะจะนำมาซึ่งความขัดแย้งที่รุนแรงของผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม เนื่องจากขัดแย้งกับ ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ ซึ่งได้ผ่านการประชาพิจารณ์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสนอความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังขัดต่อหลักการของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่เน้นหลักจริยธรรมแห่งการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวไร่และโรงงาน สร้างความร่วมมือ ความยั่งยืนและความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

นอกจากนี้ คำนิยาม ‘ผลพลอยได้’ ตามกฎหมายฉบับเดิม ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเติบโตมาอย่างมั่นคง จากที่เคยมีผลผลิตอ้อยจำนวน 23.91 ล้านตันในฤดูการผลิตปี 2525/2526 เพิ่มเป็น 134.92 ล้านตันอ้อย ในฤดูการผลิตปี 2560/2561

ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายแนวทางที่ใช้ปรับปรุงการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อเพิ่มรายได้และทำให้ราคาอ้อยสูงขึ้นได้ ซึ่งที่ผ่านมา ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลตกลงร่วมกันกำหนดระบบประกันราคาอ้อยในอัตราตันละ 1,200 บาท โดยเห็นพ้องกันว่าจะไม่กำหนดคำว่า ‘กากอ้อย’ ในคำนิยาม ‘ผลพลอยได้’ เนื่องจากไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งในอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมาอ้อยและน้ำตาลทราย ที่เป็นองค์กรกำกับดูแลตามกฎหมายนี้ ไม่สามารถบริหารอุตสาหกรรมนี้ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

“เรามองว่า ร่าง พรบ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. (ฉบับที่ ….) ของรัฐบาลที่จัดทำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งที่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายและคณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบแล้ว เป็นร่างกฎหมายที่มีความเหมาะสม และสร้างเสมอภาคให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ตามปรัชญาการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม แต่กลับไม่นำมาใช้เป็นร่างหลักในการพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย และขอยืนยันว่า การคัดค้านครั้งนี้ไม่ได้ต้องการขัดขวางการปรับปรุงกฎหมาย แต่ต้องการกฎหมายที่นำไปปฎิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกฝ่ายยอมรับ ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง จนนำไปสู่การล่มสลายของอุตสาหกรรม เหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และคิวบา ที่ล้วนเกิดจากการกำกับดูแลที่ผิดพลาดทั้งสิ้น” นายปราโมทย์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มิ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top