วิกฤติอาหารโลกครั้งนี้มีสงครามรัสเซียและยูเครนเป็นปัจจัยสำคัญ โดยต้องจับตาดูสถานการณ์แบบเดือนต่อเดือนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะแต่ละประเทศมีสถานการณ์แตกต่างกัน แต่ในส่วนของประเทศไทยยังไม่มีผลกระทบด้านลบ เนื่องจากไทยนำเข้าอาหารจากทั้ง 2 ประเทศคู่กรณี เช่น ข้าวและแป้งสาลี เป็นส่วนน้อย แต่อาจได้รับผลกระทบในเรื่องของราคาอาหารที่สูงขึ้น
ในทางกลับกันมองว่า วิกฤติดังกล่าวถือเป็นโอกาสดีของภาคส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรของไทย เพราะความต้องการสินค้าอาหารหลายชนิดจากไทยจะเพิ่มขึ้น ทดแทนการส่งออกที่หายไปจากประเทศที่ระงับการส่งออก และจะทำให้ราคาขายดีขึ้น
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) มองว่าการที่หลายประเทศระงับการส่งออกอาหารนั้น ในภาพรวมมองว่ายังไม่กระทบกับไทย เนื่องจากไทยนำเข้าอาหารจากประเทศรัสเซียและยูเครน เช่น ข้าวและแป้งสาลี เป็นส่วนน้อยที่นำมาประกอบอาหาร อย่างไรก็ดี จะมีผลกระทบในการนำมาทำอาหารสัตว์ แต่ไม่ได้กระทบในวงกว้างอย่างประเทศอื่นๆ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบหลักในอาหาร
อย่างไรก็ดี ไทยมีสินค้าหลักสำคัญ คือ ข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของไทย ซึ่งขณะนี้ไม่ได้ขาดแคลน เนื่องจากผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวช่วงต้นปีนั้นออกมาดี ส่วนเรื่องเนื้อสัตว์ ก่อนหน้านี้ไทยประสบปัญหาเรื่องหมูติดโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) แต่ขณะนี้สถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้นแล้ว จึงอาจทำให้ซัพพลายไม่ขาดแคลนเหมือนก่อนหน้านี้ แต่อาจเห็นซัพพลายตึงตัวมากขึ้นได้ จากต้นทุนอาหารสัตว์ที่มีราคาสูงขึ้น
“สินค้าข้าว จะไม่เป็นประเด็นในเอเชียแน่นอน เป็นสินค้าเกษตรตัวเดียวที่ราคายังไม่ขยับขึ้น และซัพพลายยังเยอะอยู่ ส่วนเนื้อสัตว์ ต้องติดตามเนื่องจากก่อนหน้านี้มีประเด็นหมูติดโรค และอาหารสัตว์ที่แพงเนื่องจากผูกกับรัสเซียและยูเครน จึงคาดการณ์ว่าอาจเห็นเนื้อสัตว์มีการตึงตัวมากขึ้น และบางประเทศอาจ Take action ในเรื่องนี้” นายพชรพจน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นต้องงดหรือลดการส่งออกสินค้าเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ แต่สุดท้ายแล้วต้องขึ้นอยู่กับดีมานด์ของต่างประเทศว่าจะสูงมากขนาดไหนที่จะต้องไปทดแทนส่วนที่หายไป ซึ่งหลายตลาดก็มีผู้ส่งออกหลายราย สมมติว่าอินโดนีเซีย หรือมาเลเซียหายไป ผู้นำเข้าอาจหันมาซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งผลกระทบในช่วงนี้มองว่า ราคาของสินค้าที่หันมาซื้ออาจเพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่ยังไม่ได้มองว่าถึงขั้นต้องตั้งโควตาส่งออกเหมือนกับบางประเทศ
“ผู้ประกอบการ ต้องบาลานซ์ในส่วนนี้หากดีมานด์ต่างประเทศสูงมาก แต่คงยังไม่ถึงขนาดลดการส่งออก หากก่อนหน้านี้ยอดออเดอร์เคยอยู่ที่ 100 ชิ้น วันนี้ที่ต่างประเทศหยุดส่งออก ยอดออเดอร์ไทยคูณสองเป็น 200 ชิ้น ไทยอาจไม่ต้องส่งออกทั้ง 200 ชิ้น ตามความต้องการ ต้องบาลานซ์กับดีมานด์ในประเทศ มองว่าจะออกมาเป็นในรูปแบบนี้มากกว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาสูงขึ้น” นายพชรพจน์ กล่าว
อีกทั้งขณะนี้ยังไม่มีลักษณะที่ว่าไทยไม่สามารถนำเข้าอาหารตามปริมาณที่ต้องการได้ หรือมีราคาแพงมากในทางตรง แต่ในทางอ้อมเรื่องปุ๋ยที่ราคาปรับขึ้นไปแล้วนั้น ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะกระทบอย่างไร เนื่องจากการปลูกพืชมีหลายปัจจัย ทั้งเรื่องปุ๋ย ดินฟ้าอากาศ และน้ำ อย่างไรก็ตาม ประมาณการพืชผลปีนี้อาจมากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ความเสียหายทางเกษตรที่เกิดจากการขาดน้ำจึงอาจไม่เกิดขึ้น โดยรวมแล้วปริมาณผลผลิตอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
แต่ผลกระทบที่เห็นชัดมากที่สุด คือ ด้านเศรษฐกิจ โดยราคาสินค้าอาหารที่มีความสำคัญกับประชาชนทุกคน ปรับตัวขึ้นมาระดับหนึ่งในช่วงไตรมาส 1/65 ตามเงินเฟ้อของไทย ที่หลายสำนักประมาณการอยู่ที่ 5% ซึ่งมองว่าเป็นไปได้แน่นอน นอกจากนี้ มองว่าในไตรมาส 2/65 เงินเฟ้อของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 6% แต่คงไม่สูงถึง 8% เหมือนอย่างสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังเงินเฟ้อน่าจะปรับลดลงมา
“หลังจากนี้มองว่าเงินเฟ้อไม่น่าจะลดลง และยืนอยู่ในระดับสูง แต่ถามว่าจะขึ้นไปสูงกว่านี้อีกหรือไม่ ยังไม่ได้มองว่าจะขึ้นไปไกลกว่านี้มากเท่าไหร่นัก เนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับขึ้นมาเยอะๆ ก่อนหน้านี้ เช่น หมู หรืออาหารสำเร็จรูป ก็ได้ปรับขึ้นมาแล้วรอบหนึ่ง ซึ่งก็คงยืนอยู่ในระดับสูงต่อไป แต่ตอนนี้มองว่าราคาไม่น่าจะขึ้นไปได้มากกว่านี้” นายพชรพจน์ กล่าว
นายพชรพจน์ กล่าวถึงสถานการณ์เรื่องการระงับสินค้าหลังจากนี้ว่า หลายๆ ประเทศใช้หลักป้องกันไว้ก่อน (preemptive) อย่างเช่น อินโดนีเซียที่ประกาศกลับไปกลับมา ตอนแรกบอกยกเลิก แต่ภายหลังไม่ยกเลิกแล้ว จึงมองว่าต้องดูสถานการณ์แบบเดือนต่อเดือนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป และแต่ละประเทศก็มีสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ในส่วนของไทย อยู่ในภาวะที่ซัพพลายอาหารไม่กระทบถึงขั้นขาดแคลน แต่ราคาก็อาจสูงขึ้นบ้าง
“หากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนคลี่คลาย ทั้งสองประเทศก็จะสามารถส่งออกสินค้าที่มีในสต็อกได้ทันที ส่วนในปีหน้าอาจมีปัญหา เนื่องจากในประเทศไม่ได้ปลูกพืชผลทางการเกษตร” นายพชรพจน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี มองว่าขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณของการขาดแคลนอาหาร ส่วนใหญ่สินค้าเกษตรในไทยผลิตขายในประเทศ และส่งออกในส่วนที่เหลือ ด้านผู้ประกอบการอาจต้องปรับราคาสินค้าตามราคาในตลาดโลก ไทยจึงต้องเจอราคาอาหารที่แพงขึ้น แต่ยังไม่ขาดแคลน
ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต มองว่าการระงับส่งออกอาหารและกักตุนอาหารจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก และคาดว่าจะมีประเทศต่างๆ ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวมากขึ้น อาจมีการกำหนดโควตาการส่งออก จนถึงการระงับการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกี่ยวเนื่องกัน จะขยายวงเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ขณะเดียวกัน การสต็อกอาหารและกักตุนอาหารก็จะเพิ่มขึ้นด้วย
“ในกรณีเลวร้ายสถานการณ์น่าจะยืดเยื้อไปถึงกลางปี 2567 แต่หากกรณีพื้นฐาน ปลายปีนี้สถานการณ์น่าจะดีขึ้น แต่สงครามรัสเซียและยูเครนต้องยุติ” นายอนุสรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี วิกฤติความมั่นคงทางอาหารครั้งนี้ แตกต่างจากวิกฤติราคาอาหารโลกเมื่อปี 2550-2551 ซึ่งวิกฤติคราวนั้นเป็นผลจากภัยแล้งรุนแรง และการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานเป็นหลัก รวมทั้งการใช้พลังงานชีวภาพที่เพิ่มขึ้น โครงสร้างการค้าและการผลิตสินค้าเกษตร กระจุกตัวในประเทศหลักๆ ไม่กี่ประเทศ
สำหรับวิกฤติอาหารในครั้งนี้ มีสงครามรัสเซียและยูเครนเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะยูเครนที่เป็นพื้นที่สงคราม เป็นแหล่งผลิตธัญพืชส่งออกหลายตัว แต่ขณะนี้ไม่สามารถผลิต หรือเก็บเกี่ยวได้ และกว่าจะทำการเพาะปลูก หรือเก็บเกี่ยวได้ตามปกติต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน
“ต้องรอดูว่าสงครามและการหยุดยิงจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ส่วนการเก็งกำไรในตราสารอนุพันธ์สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Derivatives) มีผลต่อการพุ่งขึ้นของราคาอาหารน้อยมาก เมื่อเทียบกับวิกฤติราคาอาหารเมื่อปี 2550 ราคาอาหารของโลกโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 30-40% แต่นับตั้งแต่สงครามยูเครนกับระบอบปูตินรัสเซียปะทุขึ้น กระทบผลผลิตเบื้องต้นไปแล้วไม่ต่ำกว่า 10-20%” นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ มองว่า วิกฤติอาหารอาจใหญ่กว่าวิกฤติพลังงาน และอาจใช้เวลาแก้ไขนานกว่า เนื่องจากเป็นภัยคุกคามต่อประเทศยากจนทั่วโลกและประเทศพัฒนาแล้ว และอาจนำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้
การระงับส่งออกอาหารของหลายประเทศนั้น คงไม่กระทบกับไทยมากนัก เนื่องจากไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารเช่นเดียวกัน กลับกันมองว่าจะได้ประโยชน์ เพราะความต้องการสินค้าอาหารหลายชนิดจากไทย จะเพิ่มขึ้นทดแทนการส่งออกที่หายไปจากประเทศที่ระงับการส่งออก และจะขายได้ราคาดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีธัญพืชบางตัว วัตถุดิบผลิตอาหารบางชนิดที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้า ก็จะได้รับผลกระทบ ของอาจแพงขึ้นมาก และอาจขาดแคลนได้ เช่น ข้าวสาลีผลิตขนมปัง เป็นต้น
“โดยภาพรวมไทยได้ประโยชน์ จากรายได้ส่งออกอาหารเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน ราคาในอาหารและค่าครองชีพในประเทศจะแพงขึ้นไปจนถึงปลายปีนี้” นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ มองว่าวิกฤติดังกล่าว ถือเป็นโอกาสดีของภาคส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรของไทย โดยไทยไม่มีความจำเป็นต้องระงับการส่งออกสินค้าอาหารหรือสินค้าเกษตรใดๆ ยกเว้นปุ๋ยที่เราอาจต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชน ภาคเกษตรกรรมสต็อกไว้บางส่วน เพราะอาจขาดแคลนหรือราคาแพงขึ้นอีกได้
ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากภาคส่งออกอาหารและสินค้าเกษตร จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งภาครัฐควรหามาตรการหรือกลไกที่ทำให้รายได้เหล่านี้ กระจายไปสู่ผู้ผลิตและเกษตรกรอย่างเป็นธรรม
“ผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากอาหารแพง คือ คนจน ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย เพราะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารจะคิดเป็นสัดส่วน 50-70% ของรายได้ของคนกลุ่มนี้ และคนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ คนจนเมือง ดังนั้น รัฐอาจต้องจัดมาตรการสวัสดิการช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนมาก เช่น คูปองอาหาร หรือเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม เป็นต้น” นายอนุสรณ์ กล่าว
ขณะที่นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า การที่มีประเทศต่างๆ ทยอยออกมาตรการยกเลิกส่งออกอาหาร หรือมีการกักตุนอาหาร น่าจะผลักดันสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก จึงควรเน้นการเพิ่มปริมาณอาหารในกลุ่มประเทศผู้ผลิตสำคัญ รวมถึงกระจายอาหารจากประเทศที่มีผลผลิตส่วนเกินไปสู่ประเทศที่ขาดแคลนให้ทั่วถึงมากกว่า
“สถานการณ์หลังจากนี้ว่า ไม่อาจประเมินทิศทางสถานการณ์การขาดแคลนอาหารได้ชัดเจนนัก ขึ้นอยู่กับท่าทีของผู้นำ หรือประเทศผู้นำ ว่าจะร่วมกันหาทางออกต่อปัญหานี้อย่างไร เนื่องจากมองว่าความพยายามของประเทศใดประเทศหนึ่ง คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะเป็นปัญหาระดับโลก ที่ต้องการความร่วมมือดำเนินการแก้ปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน” นางอนงค์ กล่าว
สำหรับการยกเลิกส่งออกอาหารของต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อไทยผ่าน 2 ช่องทาง คือ
1. วัตถุดิบอาหารนำเข้ามีราคาสูง ส่งผลทำให้ต้นทุนโรงงานแปรรูปอาหารเพิ่มสูงตามไปด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าพื้นฐานที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันถั่วเหลือง นมถั่วเหลือง ซอสถั่วเหลือง อาหารสัตว์ จากเมล็ดถั่วเหลือง กาแฟ เบเกอรี่และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากแป้งสาลี นมพร้อมดื่มจากนมผง เป็นต้น ทำให้สินค้าสำเร็จรูปมีราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
2. วัตถุดิบพืชอาหารสัตว์มีราคาสูง เช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลือง ปลาป่น ส่งผลทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์เพิ่มสูงตามไปด้วย ปัจจัยดังกล่าวส่งผลทำให้ราคาเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ ไข่ มีราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลทำให้เกิดเงินเฟ้อ
“ประเด็นเหล่านี้จะกระทบต่อคนไทยในภาพรวม ที่ต้องซื้ออาหารในราคาแพงขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนสินค้าหลักที่จำเป็นนั้น ภาครัฐมีกลไกของสินค้าควบคุม ดูแลความเดือดร้อนของประชาชนอยู่แล้ว 4 รายการในหมวดสินค้าเกษตร และ 13 รายการในหมวดอาหาร รวม 17 รายการสินค้าควบคุม” นางอนงค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในมุมลบ ย่อมมีมุมบวก หมายถึง มีกลุ่มผู้ที่ได้รับประโยชน์ หรือประเทศที่ได้รับประโยชน์ เพราะมีผลผลิตส่วนเกินสามารถส่งออกนำรายได้เข้าประเทศได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประเทศส่วนน้อยราว 50 ประเทศ (จาก 220 ประเทศทั่วโลก) ที่จะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารสุทธิ (ส่งออกมากกว่านำเข้า) เช่น บราซิล อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา เนเธอร์แลนด์ สเปน รวมถึงประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ใน 2 สถานะ ซึ่งแต่ละสถานะได้รับผลกระทบจากวิกฤติอาหารรอบนี้แตกต่างกัน ดังนี้
1. เป็นประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าอาหารเพื่อบริโภคโดยตรง เช่น ผลไม้สด เนื้อวัว อาหารทะเลราคาแพง ช็อกโกแลต และกาแฟ จะทำให้ตัวเลขขาดดุลการค้าของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ตามราคาสินค้านำเข้า แต่ผู้บริโภคหลักในกลุ่มคนรวย ชนชั้นกลางที่มั่งคั่ง ได้รับผลกระทบไม่มากแม้ต้องจ่ายราคาอาหารเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นก็ตาม และการนำเข้าเพื่อแปรรูปในอุตสาหกรรม เช่น ปลาทะเลแช่แข็ง เมล็ดถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโพด นมผง สินค้าอาหารแปรรูปขั้นสุดท้ายส่วนใหญ่ เป็นสินค้าพื้นฐานที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันถั่วเหลือง นมถั่วเหลือง ซอสถั่วเหลือง อาหารสัตว์ จากเมล็ดถั่วเหลือง เบเกอรี่และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากแป้งสาลี อาหารสัตว์จากข้าวโพด และนมพร้อมดื่มจากนมผง
2. เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยมีอาหารที่ผลิตได้เพียงพอต่อการบริโภคของคนในชาติ ทั้งอาหารในกลุ่มแป้งคาร์โบไฮเดรต (ข้าว ผลิตได้ 22 ล้านตันข้าวสาร บริโภค 10 ล้านตัน เหลือส่งออก 12 ล้านตันต่อปี, น้ำตาลทราย ผลิตได้ 10 ล้านตัน บริโภค 2.5 ล้านตัน เหลือส่งออก 7.5 ล้านตันต่อปี, แป้งมันสำปะหลัง ผลิตได้ 7 ล้านตัน บริโภค 2 ล้านตัน เหลือส่งออก 5 ล้านตันต่อปี), น้ำมันพืช (ปาล์มน้ำมัน ผลิตได้ 17 ล้านตัน ผลสด บริโภค 16 ล้านตัน เหลือส่งออก 1 ล้านตันต่อปี) และโปรตีน (มีไก่และหมูเป็นหลักที่ผลิตได้เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศอยู่แล้ว โดยมีไก่ที่มีผลผลิตส่วนเกินสามารถส่งออกได้ราว 1 ล้านตันต่อปี)
“ข้อมูลทั้งหมดนี้ เชื่อได้ว่าจะไม่ทำให้ประเทศไทยขาดแคลนหรือสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร ยิ่งไปกว่านั้นจะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการส่งออกอาหารได้เพิ่มขึ้น ทั้งปริมาณและราคา ซึ่งธรรมชาติของสินค้าอาหารส่วนใหญ่ คือ สามารถปลูกและเพาะเลี้ยงเพิ่มได้ โดยใช้เวลาไม่นานในการให้ผลผลิตออกสู่ตลาด ไม่เหมือนน้ำมันที่ใช้แล้วหมดไป ทั้งนี้ มองว่ามาตรการยกเลิกส่งออกอาหาร ไม่น่าจะสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย” นางอนงค์ กล่าว
สำหรับข้อเสนอกลยุทธ์ในการรับมือวิกฤติอาหารของประเทศไทย ต้องเน้นรักษาเสถียรภาพภายในตามกลไกตลาด ดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางทางสังคม และพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสเพื่อผลิตและส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ 5 ข้อ ดังนี้
1. มาตรการในระยะสั้น ภาครัฐอาจต้องมอนิเตอร์ห่วงโซ่ เพื่อรักษาความมั่นคงอาหารของประเทศ ให้สมดุลกับการบริโภค ป้องกันการขาดแคลน การกักตุน การฉกฉวยขึ้นราคาเกินจริง รวมถึงการลักลอบส่งออกที่ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ (เน้นไม้อ่อน ขอความร่วมมือ สร้างความเข้าใจ ใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็นภายใต้กรอบที่มีอยู่)
2. ดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางทางสังคม ให้สามารถเข้าถึงอาหารได้ด้วยคุณภาพและความปลอดภัย เช่น ขยายโครงการคนละครึ่งเฟสใหม่ เน้นบทบาทของภาคประชาสังคมเพื่อสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการแบ่งปันอาหาร โครงการธนาคารอาหารสำหรับผู้ด้อยโอกาส โครงการจากพี่สู่น้อง รวมถึงกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ในภาคธุรกิจที่ควรเน้นส่งเสริมในเรื่องดังกล่าว เป็นต้น
3. ด้านภาคเกษตรกรรมต้นน้ำ ควรส่งเสริมการเพาะปลูกและเพาะเลี้ยง ให้ผลผลิตสินค้าเกษตรอาหาร มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการจำหน่ายหรือส่งออก รวมถึงเป็นการเพิ่มอุปทาน (Supply) ให้กับอาหารโลก แต่อุปสรรคคือต้นทุนการผลิตสูง จากราคาปัจจัยการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นมาก เช่น ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช น้ำมัน รวมถึงค่าจ้าง ภาวการณ์เช่นนี้ ไม่จูงใจเกษตรกรให้เพิ่มผลผลิต ดังนั้น ทางออกหนึ่งที่พอเป็นไปได้ คือ การส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ขณะที่รัฐอาจต้องช่วยเกษตรกรให้เข้าถึงปัจจัยการผลิตเหล่านั้นได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
4. ด้านอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่ต้องพึ่งพิงวัตถุดิบนำเข้า ต้องพิจารณาลดอุปสรรคการนำเข้าเป็นการชั่วคราว เช่น ภาษีนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต และวัตถุดิบ ค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อลดต้นทุนนำเข้าและเพิ่มความสามารถในการผลิตให้กับผู้ประกอบการ ส่งผลดีในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนในประเทศ จากราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงให้กลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตเพื่อการส่งออก ได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ นำรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะเป็นมาตรการดังกล่าวส่วนหนึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทยในระยะยาว
5. ปรับวิธีการสื่อสารเพื่อสร้างภาพลักษณ์ประเทศ และแสดงบทบาทผู้นำด้านอาหารของไทยในเวทีโลก แม้คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากภาวการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเองไม่ควรสื่อสารออกไปในทำนองที่เราได้รับประโยชน์ท่ามกลางความเดือดร้อนของผู้คนทั่วโลก แต่เราจะต้องประกาศให้โลกรู้ว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันอาหาร หรือสนับสนุนให้เกิดการกระจายอาหารอย่างทั่วถึง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับโลก โดยไม่มีมาตรการจำกัดหรือระงับการส่งออกอาหารแต่อย่างใด
สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปี 65 คาดว่าจะมีมูลค่า 913,978 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.4% และคงคาดการณ์ส่งออกทั้งปีไว้ที่ 1,200,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก
1. ความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยวและบริการที่มีแนวโน้มฟื้นตัว หลายประเทศมีแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
2. ยอดติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนเข้าสู่วิถีดำเนินชีวิตปกติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว
3. ราคาอาหารโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลดีต่อสินค้าเกษตรและอาหารของไทยโดยรวม
4. เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าที่สุดในรอบ 5 ปี และมีแนวโน้มอ่อนค่าได้อีกในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local content) จะเป็นกลุ่มหลักที่จะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มิ.ย. 65)
Tags: krungthai COMPASS, พชรพจน์ นันทรามาศ, ยูเครน, รัสเซีย, วิกฤตอาหาร, สงคราม, ส่งออก, ส่งออกอาหาร, สถาบันอาหาร, อนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์, อนุสรณ์ ธรรมใจ