นักวิเคราะห์ฯคาดตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับตัวลงตามตลาดหุ้นต่างประเทศ รับแรงกดดันตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่ง 8.6% สูงสุดในรอบกว่า 40 ปี และสูงกว่าตลาดคาด สร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้น และส่งผลกังวลต่อการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มคุมเข้มนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.50% เพื่อคุมเงินเฟ้อ โดยให้แนวต้าน 1,640 จุดแนวรับ 1,620-1,610 จุด
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้คาดว่าปรับตัวลงตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังจากเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนพ.ค.สูงขึ้นมาที่ 8.6% เป็นระดับสูงสุดครั้งใหม่ในรอบกว่า 40 ปี และสูงกว่าตลาดคาด ส่งผลกดดันต่อ sentiment ภาพรวมของตลาดหุ้น และในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทำให้ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับ การดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯมีโอกาสเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.50% เพื่อ ควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาดในวันนี้
โดยให้แนวต้าน 1,640 จุด แนวรับ 1,620-1,610 จุด
บล.เคทีบีเอสที คาดกรอบดัชนีฯ สัปดาห์นี้ 1,600-1,650 จุด (สัปดาห์ที่ผ่านมาปิดที่ 1,632.62 จุด / -0.91%) โดยตลาดหุ้นวันแรกอาจปรับตัวลงมาก เพราะตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯที่สูงมากและเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในครั้งนี้ (เดิมคาด 0.50%) และเหวี่ยงแรงอีกครั้งหลังทราบผลประชุมในวันพฤหัส (16 มิ.ย.) นอกจากนี้ จับตาประธานาธิบดีโจ ไบเดน แก้ปัญหาเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันที่สูง ขณะที่สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ยังดูอึมครึม การเจรจาล้มเหลว กระทบเศรษฐกิจโลก
รวมทั้งจีนมีการล็อกดาวน์บางเมือง อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ การเปิดเมืองน่าจะช้าออกไป กลับมากดดันตลาดอีกครั้ง กระทบต่อหุ้นส่งออก-เดินเรือ
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
– ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (10 มิ.ย.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,392.79 จุด ร่วงลง 880.00 จุด หรือ -2.73%ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,900.86 จุด ร่วงลง 116.96 จุด หรือ -2.91% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,340.02 จุด ร่วงลง 414.20 จุด หรือ -3.52%
– ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 27,369.66 จุด ลดลง 454.63 จุด หรือ -1.63%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 21,162.53 จุด ร่วงลง 643.65 จุด หรือ -2.95% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,256.28 จุด ลดลง 28.55 จุด หรือ -0.86%
– ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (10 มิ.ย.) ที่ระดับ 1,632.62 จุด ลดลง 8.72 จุด, -0.53%
– นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,881.72 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.65
– ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค.(10 มิ.ย.)ลดลง 84 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 120.67 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ปรับตัวขึ้น 1.5% ในรอบสัปดาห์นี้
– ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (10 มิ.ย.) อยู่ที่ 22.58 ดอลลาร์/บาร์เรล
– เงินบาทเปิด 34.78 แนวโน้มอ่อนค่า ตลาดกังวลเฟดขึ้นดบ.แรง กรอบวันนี้ 34.75-34.90
– “กรณ์” ปูดคนไทยโดนปล้นปีเดียวค่ากลั่นน้ำมันขึ้นพรวด 10 เท่า เสนอกำหนดเพดานกันค้ากำไรเกินควร พร้อมเก็บ “ภาษีลาภลอย” บริษัทน้ำมัน นำกำไรส่วนเกินช่วยคนไทย ด้านภาค ปชช.บี้ ก.พลังงาน ลดค่าครองชีพ ปรับโครงสร้างทั้งระบบ ยืดเวลาราคาน้ำมันขึ้น-ลงไม่ถี่เกินไป ส่วน LPG ให้กลับไปใช้สูตรราคาเดิม
– “ประเสริฐ” เผยฝ่ายค้านกำลังวางตัวผู้อภิปรายถล่มรัฐบาลในศึกซักฟอก แย้มมีใบเสร็จทุจริตเด็ดหัวรัฐมนตรีอย่างน้อย 5 คน สะพัด “เพื่อไทย” ดอง 7 งูเห่า ไม่รีบขับพ้นพรรค แนะจับตาหลัง ก.ย.ก๊วนแหกคอกตบเท้าลาออกเอง
– เอกชนรับมือวิกฤตแรงงานขาดแคลนหลังเปิดประเทศ เศรษฐกิจฟื้นออร์เดอร์ส่งออกพุ่ง ภาคอุตสาหกรรมต้องการ 7 แสนคน ธุรกิจอาหารเร่งหาพนักงาน 4 แสนคน เครื่องนุ่งห่มดีลบริษัทจัดหางานนำเข้าแรงงานเอ็มโอยู 7 หมื่นคน “เมียนมา” เป็นหลัก หวังดันครึ่งปีหลังฟ้นตัวกลับ 2 แสนล้านบาท เผยต้นทุนลดลงจาก 2 หมื่นเหลือ 2 พันบาท/คน
– ยกเครื่องภาษีสรรพสามิตใหม่ดัน “รถอีวี-กระบะอีวี” เต็มสูบ มีผลทันทีลดภาษีจาก 8% เหลือ 2% เปิดช่องอุ้มสันดาปต่ออีก 3 ปี เริ่มใช้ปี 2569 ชี้ยังอิง CO2 ค่ายไหนทำไม่ได้เสียอัตราภาษีเพิ่ม ค่ายรถแฮปปี้มีเวลาปรับตัว หลายแบรนด์พร้อมขยับหนีไปไฮบริด ส่วนค่ายอีโคคาร์ยอมรับสภาพต้นทุนต่อคันเพิ่มแน่ คลังเผยรถอีวีจีนพร้อมเข้าร่วมมาตรการจูงใจอีก 2-3 รายในปีนี้ ย้ำชัดลดภาษีเหลือ 2% รถจีนต้องลดราคาอีกคันละ 7-8 หมื่นบาท ยุโรปอาจจะได้ถึง 6 แสนบาท จับตาขาดแคลนชิปทำมาตรการส่งเสริมอีวีสะดุด
*หุ้นเด่นวันนี้
– BEM (กรุงศรี) “ซื้อ” เป้า 10 บาท จำนวนผู้เข้าใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน และ ทางด่วนเพิ่มขึ้นจากเปิดเทอม และเปิดประเทศ และมี Upside หลัง รฟม.เปิดขายซองประมูลงานรถไฟฟ้าสายสีส้มซึ่ง CK + BEM มีโอกาสชนะประมูลมากที่สุด(เพราะงานส่วนใหญ่เป็นงานใต้ดิน
– KKP (เคทีบีเอสที) เป้าเชิงกลยุทธ์ 70 บาท ปันผลสูงปี KTBST ประเมิน Dividend Yield ปี 65-66 ที่ 4.9% และ 5.4% (เทียบกับราคาปิดวันศุกร์) หากราคาปรับฐานลงในช่วงสั้น ควรทยอยซื้อสะสม รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตดีจาก Investment Product ที่หลากหลายและฐานลูกค้า Wealth ที่ Active, การขาดทุนรถยึดลงลงต่อเนื่อง จำนวนรถยึดลดลงมาที่ 1.5-1.6 พันคัน/เดือน เทียบกับปี 64 ที่ 2 พันคันต่อเดือน ราคารถมือสองยังดี KTBST ประเมินกำไรสุทธิปี 65-66 ที่ 7.6 พัน ลบ. และ 8.1 พัน ลบ. +20%YoY, +7.3%YoY ตามลำดับ
– MINT (คิงส์ฟอร์ด)”ซื้อเก็งกำไร” IAA Consensus 41 บาท น้ำหนักโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่อง YoY โดย Core Revenue ไตรมาส 1/65 สูงขึ้น +66%YoY ทิศทางช่วงถัดไปยังคาดธุรกิจโรงแรมโดยรวม RevPar ดีขึ้นต่อเนื่อง จากสัญญาณเดือน เม.ย.หากเทียบกับปีปกติ 62 แล้ว RevPar เม.ย.65 จะอยู่ที่ -5% (ดีขึ้นจาก เม.ย.64 ที่ -83%) ได้ประโยชน์โดยตรงจากภาคท่องเที่ยวเริ่มกลับสู่ปกติโดยเฉพาะโซนยุโรป (สัดส่วนห้องราว 60% ) ขณะที่ธุรกิจ Food มีแรงหนุนร้านอาหารในไทยไตรมาส 1/65 แต่ได้รับผลกระทบล็อกดาวน์ในจีนและออสเตรเลีย แต่คาดโควิดจะมีน้ำหนักน้อยลงในช่วงครึ่งหลังปี 65 ทั้งนี้ ตลาดคาดปี 65 มีโอกาสพลิกกำไรหลังจากขาดทุนต่อเนื่องในปี 64 และ 63
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มิ.ย. 65)
Tags: ตลาดหุ้น, หุ้นไทย, เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม