นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาเงินเฟ้อสูง ค่าครองชีพพุ่งขึ้น เป็นปัญหาใหญ่ของครัวเรือนรายได้น้อยอย่างมาก ขณะที่หลายประเทศทยอยใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงิน ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อสหรัฐอเมริกาเดือน พ.ค.ปรับตัวสูงสุดในรอบ 40 ปีแตะระดับ 8.6 % เทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว สูงกว่าตลาดคาดการณ์ ทำให้มีการคาดการณ์ว่ามีโอกาสมากขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. มากถึง 0.75% สูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้เดิมว่าจะปรับเพียง 0.50% และธนาคารกลางสหรัฐอาจจะส่งสัญญาณชัดเจนในการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดขึ้นอีกในการประชุมครั้งนี้ และอาจมีการปรับแผนการทำ QT จากการดูดซับสภาพคล่องออกเดือนละ 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์เพิ่มเติม
สถานการณ์ดังกล่าว จะทำให้ตลาดการเงิน ตลาดหุ้นในสัปดาห์หน้าผันผวนรุนแรง โดยปรับฐานลดลง และหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.75% ในการประชุมครั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจดำเนินนโยบาย QT เข้มงวดขึ้นอีก ภาวะดังกล่าวควรเป็นปัจจัยที่คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำมาเพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศเองในเดือนพฤษภาคมก็ปรับตัวสูงสุดในรอบ 13 ปี แตะ 7.1% เงินเฟ้อกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นกว่า 37.2% กลุ่มอาหารราคาเพิ่มขึ้น 6.18% และดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 13.3%
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า หากเงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่อง พร้อมราคาน้ำมันในตลาดโลกทรงตัวในระดับสูงกว่า 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประกอบกับราคาปุ๋ยปรับตัวสูงกว่า 3 เท่า อาจทำให้ราคาอาหารและสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก ขณะเดียวกันรัฐบาลมีข้อจำกัดมากขึ้นในการแทรกแซงเพื่อชดเชยราคาพลังงาน หากมาตรการลดภาษีสรรพสามิต 5 บาทต่อลิตรสิ้นสุดลงในวันที่ 20 ก.ค. โดยไม่ยืดมาตรการออกไป คาดการณ์ได้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 25 ปีได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ คือ สูงกว่าเมื่อครั้นเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 ที่เงินบาทอ่อนค่าอย่างรุนแรง
“แต่เงินเฟ้อสูงคราวนี้ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยเงินบาทอ่อนอย่างเดียว ครั้งนี้เกี่ยวพันกับสงครามซึ่งไม่รู้จะจบเมื่อไร และส่งผลต่อการชะงักงันในการผลิต และห่วงโซ่อุปทานของภาคพลังงานและภาคเกษตรกรรม รวมทั้งการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ” นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมมองว่า การดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลกต่อไป แต่สิ่งที่ปรากฏชัดเจนขึ้น คือ ภาวะ Stagflation เศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อสูงเกิดขึ้นในหลายประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีการฟื้นตัวที่อ่อนแอลงเมื่อเทียบกับต้นปีที่ผ่านมา การทยอยเปิดประเทศและการเดินทางช่วยชดเชยการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจากสงคราม ราคาพลังงานและอาหารแพงได้ระดับหนึ่งแต่ไม่เพียงพอ หากประเทศต่างๆ ไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้และเศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก เราน่าจะได้เห็นภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยแบบ Stagflation เช่นเดียวที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 ในยุคน้ำมันแพง
“พื้นฐานเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนไป จากผลกระทบสงครามใหญ่ในยุโรปเป็นครั้งแรกให้รอบ 75 ปีทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี มีโรคระบาดระดับโลกในรอบกว่า 100 ปี ราคาน้ำมันในระดับ 130-140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เศรษฐกิจโลกน่าจะยังพอรับมือได้เช่นเดียวกับปี 2553 แต่ปัจจุบันต่างจากปี 2553-2554 ในแง่ที่ว่ามีการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศที่ไม่ได้ยึดหลักความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ แต่ใช้แรงจูงใจทางการเมือง และความมั่นคง เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้กันในสงคราม กดดันฝ่ายตรงกันข้าม จนทำให้เกิดต้นทุนพุ่งสูงขึ้น และเกิดชะงักงันในห่วงโซ่อุปทาน” นายอนุสรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านจากยุคนโยบายการเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ หรือยุค QE มาเป็นยุคนโยบายเข้มงวดทางการเงิน หรือยุค QT เปลี่ยนผ่านจากอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ สู่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น อาจดำเนินการไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า หากควบคุมเงินเฟ้อได้ และเศรษฐกิจชะลอลงมากเกินไป การใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง อาจกลับคืนมาเร็วกว่าคาดในอนาคต ภูมิภาคอาเซียนและไทยยังคงมีสถานะที่ดีกว่าหลายภูมิภาคทั่วโลก เงินทุนยังคงไหลเข้าและได้รับอานิสงฆ์จากวิกฤติอาหารโลก ส่วนสมาชิกอาเซียนที่อาจมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง ได้แก่ ลาว เมียนมา และฟิลิปปินส์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 65)
Tags: lifestyle, ขึ้นดอกเบี้ย, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เงินเฟ้อ, เฟด, เศรษฐกิจโลก, เศรษฐกิจไทย