รัฐบาลหนุนโครงการพัฒนาอาชีพเสริม-เพิ่มรายได้ชุมชน นำร่อง 7 พื้นที่ 2,000 คน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ให้ความสำคัญกับการเร่งดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศทุกภาคส่วน รวมทั้งเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบถึงผลการดำเนินงานโครงการ “พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม” ภายใต้กลไก 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม ที่มีความคืบหน้าการดำเนินกิจกรรมฝึกอาชีพนำร่องไปแล้วใน 7 พื้นที่ ให้กับประชาชนรวม 2,000 คน ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรม Kick Off พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม ไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ จังหวัดชลบุรี โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งขยายผลการดำเนินงาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเกิดการชะลอตัวลง รวมทั้งยังส่งผลต่อการจ้างงานและรายได้ต่อครัวเรือนของประชาชนในประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เร่งดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากด้วยการดำเนินโครงการ “พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม” ภายใต้กลไก 7 วิธี โดยได้นำนโยบายของนายกรัฐมนตรีมาแปลงสู่การปฏิบัติ ด้วยการพัฒนากลไกปั้นชุมชนดีพร้อม (DIPROM Community) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยต่อยอดภาคการท่องเที่ยวจากสถานการณ์ในปัจจุบัน มุ่งยกระดับไปสู่รูปแบบการดำเนินงานใหม่ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ด้วย 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม ซึ่ง 1 ใน 7 คือ คนชุมชนดีพร้อม ได้เริ่มดำเนินโครงการ “พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม” เพื่อเสริมทักษะในการประกอบธุรกิจ พึ่งพาตัวเองและมีอาชีพใหม่ สร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ กลับคืนสู่ชุมชน โดยมีการดำเนินกิจกรรมฝึกอาชีพนำร่องไปแล้วใน 7 พื้นที่ จำนวน 2,000 คน ได้แก่

1) จังหวัดสุโขทัย โดยการเพิ่มมูลค่าสินค้าในชุมชน โดยการสร้างอัตลักษณ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 400 คน

2) จังหวัดพิจิตร โดยเพิ่มมูลค่าและต่อยอดผลิตภัณฑ์และสมุนไพรในท้องถิ่น ให้ประชาชนมีรายได้เสริมในช่วงรอการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน

3) จังหวัดนครสวรรค์ โดยการนำสิ่งของเหลือใช้มาผลิตเป็นของที่ระลึก หรือสินค้าที่แสดงถึงอัตลักษณ์ในชุมชน และการแปรรูปสมุนไพรที่พบในท้องถิ่นให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน

4) จังหวัดชัยนาท โดยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าเพื่อต่อยอดในเชิงธุรกิจ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน

5) จังหวัดสงขลา โดยยกระดับองค์ความรู้ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้วยการทำตลาด Online ให้ยั่งยืน และการเพิ่มมูลค่าสินค้าจากอัตลักษณ์เมืองใต้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน

6) จังหวัดชลบุรี โดยการพัฒนาทักษะการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำยาอเนกประสงค์และจักสานจากริบบิ้น ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน

7) จังหวัดยะลา โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำตลาดออนไลน์ให้ยั่งยืนและการผลิตผลิตภัณฑ์แต่งกระเป๋าผ้า มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 200 คน

“การดำเนินงานโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อมของกระทรวงอุตสาหกรรม มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะช่วยก่อให้เกิดการยกระดับมาตรฐานการครองชีพ และความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาค รวมทั้งมีส่วนในการผลักดันให้ภาคเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ปกติ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยผลการดำเนินงานของโครงการฯ จะเป็นแนวทางในการขยายผลการดำเนินงานต่อไป”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top