บมจ.นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น (NEWS) และบมจ.อควา คอร์ปอเรชั่น (AQUA) เข้าลงทุนธุรกิจ Peerto-Peer Lending โดยการให้บริษัท เพียร์ ฟอร์ ออล จำกัด (PFA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เนสท์ติดฟลาย จำกัด (Nestify) จำนวน 117,645 หุ้น คิดเป็น 99.99% ของหุ้นทั้งหมดของ Nestifly ในราคารวมทั้งสิ้น จำนวน 500 ล้านบาท จากบริษัท เฟิร์ส พีทูพี จำกัด และกลุ่มผู้ถือหุ้นของ Nestify
ทั้งนี้ AQUA ถือหุ้นใน PFA จำนวน 29,998 หุ้น คิดเป็น 59.9960%, NEWS ถือหุ้นจำนวน 19,999 หุ้น คิดเป็น 39.9980% และผู้ถือหุ้นรายย่อย ถือหุ้นจำนวน 3 หุ้น คิดเป็น 0.0060%
NEWS จะชำระเงินลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นใน PFA ของบริษัทฯ ทั้งสิ้น จำนวน 240 ล้านบาทซึ่งประกอบด้วยมูลค่าหุ้นของ Nestifly จำนวน 200 ล้านบาท ค่าภาษีอากรของผู้ขายที่ PFA ต้องรับผิดชอบ จำนวน 10.4 ล้านบาท และเงินลงทุนในอนาคต จำนวน 29.6 ล้านบาท คาดว่าจะทำรายการเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2565
ด้าน AQUA จะชำระเงินลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น จำนวน 360 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยมูลค่าหุ้นของ Nestify จำนวน 300 ล้านบาท ค่าภาษีอากรของผู้ขายที่ PFA ที่ต้องรับผิดชอบ จำนวน 15.6 ล้านบาทและเงินลงทุนในอนาคต จำนวน 44.4 ล้านบาท
และคณะกรรมการบริษัท อนุมัติการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บริการ ได้แก่ นายฉาย บุนนาค จากตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นตำแหน่งรักษาการประธานกรรมการบริหาร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป
นายชัยพิพัฒน์ แก้วไตรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ AQUA กล่าวว่า การร่วมลงทุนในธุรกิจ FinTech เป็น Mega Trend ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและเติบโตเป็นอย่างมาก ในช่วงที่ AQUA มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ เราได้มองหาสิ่งใหม่นวัตกรรมใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ธุรกิจเดิม ทาง AQUA จึงตัดสินใจเลือกลงทุน FinTech ในรูปแบบ P2P Lending เนื่องจากมองว่าจะเป็นระบบการกู้ยืมเงินที่สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ที่มีความต้องการกู้เงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่กลับถูกปฏิเสธ หรือแม้กระทั่งสามารถแก้ปัญหาลดการพึ่งพาการกู้หนี้นอกระบบของคนไทยได้อีกด้วย”
ตอนนี้บริษัท เพียร์ ฟอร์ ออล จำกัด (PFA) ได้เป็นผู้ถือสิทธิ์บริหารใน “Nestifly” ซึ่งประกอบธุรกิจ Peer to Peer Lending Platform (P2P) เป็นการให้บริการกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านแพลตฟอร์ม โดยให้บริการผ่านระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางและสนับสนุนการก่อให้เกิดการกู้ยืมระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ เป็นการจับคู่ระหว่างผู้ที่ต้องการกู้เงินและผู้ที่ต้องการให้กู้ ซึ่งจะเป็นการกู้ยืมรูปแบบใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินแบบที่คุ้นเคย ซึ่ง Nestify เป็นผู้ประกอบการรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจแล้วและบริษัทก็ตั้งใจจะให้ เพียร์ ฟอร์ ออล เข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านการเงินของคนไทยในระยะยาวอีกด้วย
สำหรับวิธีการในเฟสแรกนั้น ผู้กู้ไม่จำเป็นต้องมีสินทรัพย์ เช่น บ้าน รถ โฉนดที่ดิน ใดๆ เพื่อมาค้ำประกัน แต่สามารถใช้เป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของไทยมาค้ำประกันแทนได้เลย ทำให้สะดวกทั้งต่อตัวผู้กู้เองและผู้ให้กู้อีกด้วย ซึ่งมองว่าโมเดลนี้มีแนวโน้มการเติบโตสูง จึงตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 60% ร่วมกับ NEWS ซึ่งจุดเริ่มต้นสำคัญคือความร่วมมือของทั้งสองบริษัทผ่าน บริษัท เพียร์ ฟอร์ ออล จำกัด (PFA) และบริษัทจะเป็นรายแรกที่เตรียมเปิดให้บริการในประเทศไทย
นายชัยพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อในธุรกิจ Peerto-Peer Lending ในปี 66 ไว้ที่ 3 พันล้านบาท โดยจะเริ่มเปิดให้บริการปล่อยสินเชื่อภายใต้แพลตฟอร์ม Nestify ในช่วงไตรมาส 4/65 หลังจากที่บล.ลิเบอเรเตอร์ ได้รับอนุญาตให้เป็น Custodian ดูแลและจัดเก็บหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นในการนำมาค้ำประกันในการขอสินเชื่อของลูกค้า จากหน่วยงานกำกับดูแล
โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะมาใช้บริการสินเชื่อจะเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการสินเชื่อไปหมุนเวียนลงทุนต่อ กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่ต้องการใช้สินเชื่อเพื่อลงทุนหรือเสริมสภาพคล่อง ซึ่งทำให้ลูกค้าทั้ง 2 กลุ่มสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น และมีต้นทุนการเงินที่ต่ำ โดยไม่มีขั้นตำในการกู้ และสามารถกู้ได้วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับการประเมิน LTV ของหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เป็นหุ้น SET 100 ที่ผู้กู้นำมาค้ำประกัน โดยมีระยะเวลาการกู้ได้นาน 9 เดือน และสามารถรีไฟแนนซ์ได้ต่อเนื่อง
“Nestify เป็นธุรกิจเดียวในตลาดที่สามารถผ่านการทดลองใน Sandbox ของแบงก์ชาติได้ จากที่มีทั้งหมด 3 ราย ทำให้เราจะเป็นเจ้าเดียวในตลาดสักพักใหญ่ที่สามารถให้บริการทางการเงินในการปล่อยสินเชื่อในธุรกิจนี้ได้”
นายชัยพิพัฒน์ กล่าว
ด้านรายได้จากธุรกิจ Peer-to-Peer Lending ในปี 66 คาดว่าจะเข้ามาราว 70-80 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของรายได้รวม โดยปัจจุบันบริษัทมีธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจคลังสินค้าให้เช่า ส่วรแบ่งกำไรจากธุรกิจโรงไฟฟ้า และการถือหุ้นในบมจ.แพลน บี มีเดีย (PLANB) พร้อมกับบริษัทจะมีการเข้าลงทุนกับพันธมิตรเกี่ยวกับธุรกิจศูนย์สุขภาพ ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ และธุรกิจ Peer-to-Peer Lending จะเป็นธุรกิจด้านฟินเทคที่เพิ่มเข้ามา
สำหรับการต่อยอดธุรกิจ Peer-to-Peer Lending หลังจากเริ่มด้วยการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เป็นหุ้นใน SET 100 ในช่วงเริ่มต้น บริษัทจะวางแผนในการขยายสินทรัพย์ค้ำประกันอื่นๆที่นำมาใช้ในการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น รถยนต์ ที่ดิน หรือสินทรัพย์ดิจิทัล นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อเพิ่มเติมในเฟสถัดไป โดยวางเป้าหมายในช่วง 3 ปี จะปล่อยสินเชื่อได้ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากบริษัทปล่อยสินเชื่อได้ราว 1 หมื่นล้านบาท จะถือว่าเป็นระดับจุดคุ้มทุนในการลงทุนดังกล่าว
นอกจากนี้บริษัทวางแผนผลักดันธุรกิจฟินเทคไปสู่การเป็น Virtual Bank หรือ Neo Bank ภายในปี 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อไป เพื่อจัดตั้งธุรกิจดังกล่าว ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายในอนาคตที่บริษัทรุกเดินหน้าต่อไป
นายกฤษฎา พฤติภัทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEWS กล่าวว่า สำหรับการได้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ AQUA ซึ่งทาง NEWS เองก็กำลังอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนพร้อมมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจแนวใหม่เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับบริษัท ถือเป็นก้าวสำคัญที่ NEWS จะได้พัฒนาแผนธุรกิจของบริษัทเองต่อไปในทางที่เราสนใจในอนาคตอีกด้วย
ขณะนี้ NEWS เองก็กำลังต่อยอดธุรกิจ Fintech ในเรื่องการให้บริการด้านการลงทุน ทั้งในรูปแบบบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) และ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซึ่งตอนนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อม กำลังดำเนินการในขั้นตอนสุดท้ายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อที่จะสามารถประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และให้บริการด้านการลงทุนกับประชาชนได้อย่างเต็มที่
“เรามองว่าเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยและคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจ พร้อมโอกาสที่จะมีผู้สนใจมาใช้บริการที่สูงมากเช่นกัน”
นายกฤษฎา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 65)
Tags: AQUA, NEWS, นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น, หุ้นไทย, อควา คอร์ปอเรชั่น