กระทรวงมหาดไทยของสหรัฐเปิดเผยเมื่อวันพุธ (8 มิ.ย.) ว่าจะทยอยยุติการจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในอุทยานแห่งชาติและที่สาธารณะอื่น ๆ ภายในปี 2575 เพื่อลดการสร้างมลพิษจากพลาสติก ขณะที่อัตราการรีไซเคิลขยะของสหรัฐลดลงอย่างต่อเนื่อง
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เด็บ ฮาแลนด์ รมว.มหาดไทยของสหรัฐ ออกคำสั่งให้ลดการจัดซื้อและการจำหน่ายจ่ายแจกผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในพื้นที่สาธารณะกว่า 480 ล้านเอเคอร์ และกำหนดให้หาวัสดุแบบอื่น เช่น วัสดุที่ย่อยสลายได้หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ามาใช้แทน
มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดจำนวนขยะพลาสติกที่มีอยู่ในมหาสมุทรกว่า 14 ล้านตันต่อปี โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายใต้คำสั่งนี้จะหมายถึงของที่ใช้เสร็จแล้วทิ้งทันที เช่น ภาชนะใส่อาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากพลาสติกและโพลีสไตรีน, ขวดน้ำพลาสติก, หลอดพลาสติก, แก้วพลาสติก, ช้อนส้อมและมีดพลาสติก ตลอดจนถุงพลาสติก
ทั้งนี้ สหรัฐเป็นหนึ่งในประเทศที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก โดยรายงานจากกลุ่มรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ ลาสต์บีชคลีนอัพ (Last Beach Clean Up) และ บียอนด์พลาสติกส์ (Beyond Plastics) ประเมินว่าอัตราการรีไซเคิลของสหรัฐลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5-6% เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากบางประเทศหยุดรับนำเข้าขยะจากสหรัฐ จนส่งผลให้ปริมาณขยะพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ทางด้านกลุ่มรักษาสิ่งแวดล้อมแสดงความชื่นชมต่อประกาศครั้งนี้ โดยคริสตี เลวิตต์ ผู้อำนวยการรณรงค์ต่อต้านพลาสติกจากโอเชียนา ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์มหาสมุทรกล่าวว่า “คำสั่งแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากกระทรวงมหาดไทยจะช่วยลดจำนวนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งอย่างสิ้นเปลืองในอุทยานแห่งชาติและที่สาธารณะอื่น ๆ ของเราได้นับล้านปอนด์ ซึ่งพลาสติกเหล่านั้นอาจก่อมลพิษให้กับพื้นที่พิเศษเหล่านี้”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มิ.ย. 65)
Tags: ขยะพลาสติก, คริสตี เลวิตต์, ผลิตภัณฑ์พลาสติก, มลพิษ, สหรัฐ, สิ่งแวดล้อม, เด็บ ฮาแลนด์