รฟท.เปิดประมูลงานโยธาส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทางกว่า 2 หมื่นลบ.ต.ค.65

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความพร้อมในการดำเนินการโครงการ รถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้ว โดยล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รายงานความพร้อมและแผนปฎิบัติ (Action Plan) ว่า จะสามารถเปิดประกวดราคาก่อสร้างงานโยธา 3 เส้นทาง โดยตามไทม์ไลน์ จะออกประกาศร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference :TOR) เปิดประมูลในเดือน ต.ค. 65 ใช้เวลาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างประมาณ 6-8 เดือน คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างประมาณเดือน เม.ย.-มิ.ย. 66 และเสนอครม.ขออนุมัติจัดซื้อจัดจ้างต่อไป

ทั้งนี้ 3 เส้นทางได้แก่ 1. สายสีแดงเข้ม ส่วนต่อขยายสายเหนือ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. มี 4 สถานี เงินลงทุน 6,570.40 ล้านบาท

2. สายสีแดงอ่อน ส่วนต่อขยายสายตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. มี 6 สถานี เงินลงทุน 10,202.18 ล้านบาท

3. ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. มี 3 สถานี 6,645.03 ล้านบาท

ส่วน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. มี 9 สถานี วงเงินลงทุน 44,157.76 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับแบบสถานีราชวิถี และย้ายตำแหน่งสถานีเนื่องจาก บริเวณใกล้เคียงมี โรงพยาบาลรามาธิบดี ดังนั้นจะใช้แนวคิดการพัฒนาสถานี ในรูปแบบเดียวกับการพัฒนาสถานี ศิริราช ของรถไฟสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ที่ประชาชนสามารถเชื่อมการเดินทางจากระบบขนส่งมวลชนเข้าสู่อาคารรักษาพยาบาลได้สะดวกสบาย ไร้รอยต่อ โดยไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยสถานีศิริราชมีทั้งรถไฟสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีเรือโดยสาร มีรถขนส่งสาธารณะ ดังนั้น แนวทางจะก่อสร้างทางเชื่อมจากรถไฟฟ้า ท่าเรือ เข้าอาคารโรงพยาบาลศิริราช

ส่วนสถานีราชวิถี จะมีการปรับรูปแบบสถานีใหม่ให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้สะดวก และยังมีโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และในบริเวณยมราชที่อยู่ใกล้เคียง จะมีรถไฟฟ้าสายสีส้มผ่านอีกด้วย ซึ่งจะต้องไปบูรณาการแบบร่วมกัน ว่าจะสามารถเชื่อมต่อกันอย่างไร เพื่อให้ผู้โดยสารเดินจากระบบหนึ่งไปสู่ระบบหนึ่ง หรือเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลฯ ได้โดยไม่ต้องออกมาเดินข้ามถนน เป็นการบูรณาการ การใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟสายสีแดงช่วง Missing Link ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด ในการเดินทางเชื่อมต่อ

ปลัดคมนาคม กล่าวว่า รฟท.ประเมินว่าจะใช้เวลาในการปรับแบบรวมถึง กรณีที่อาจมีการปรับปรุงรายงาน EIA หากการปรับแบบมีผลเปลี่ยนแปลงจากรายงานฉบับเดิม อย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าอาจจะประมูลหลังจากส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางแรกประมาณ 1 ปี

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะพิจารณา แนวทางที่ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด คือ การมีประสิทธิภาพ สะดวก ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล ดังนั้นในส่วนของการเดินรถ จะเปิดประมูล ให้เอกชนเข้ามาร่วม PPP ซึ่ง ทางบริษัท รถไฟฟ้าร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ซึ่งเป็นเดินรถไฟสายสีแดงในปัจจุบัน สามารถเข้ามาแข่งขันได้

โดยให้รฟท.จะต้องเร่งปรับไทม์ไลน์ในการดำเนินงานรถไฟสายสีแดง ช่วง Missing Link ให้ชัดเจน และกลับมารายงานกระทรวงฯอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเร่งรัดและกำกับดูแลการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด ไม่ให้มีความล่าช้า ซึ่งขณะนี้ จุดใดมีปัญหา รฟท.จะต้องทำแผนแก้ปัญหาและกรอบเวลาในการดำเนินงานมาให้ชัดเจน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มิ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top