นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประชุมหารือระหว่างกรุงเทพมหานครและกรมราชทัณฑ์ เรื่อง การดำเนินงานล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำให้กับกรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม นายชัชชาติ กล่าวว่า ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้กล่าวถึงความร่วมมือกันระหว่างกรุงเทพมหานครกับกรมราชทัณฑ์ ในการลอกท่อระบายน้ำโดยผู้ต้องขัง ดังนั้น วันนี้ กทม.จึงหารือถึงความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ ในการนำผู้ต้องขังออกมาลอกท่อทำความสะอาดท่อระบายน้ำ
“ที่ผ่านมาจากการลงพื้นที่ ได้รับคำชมจากประชาชนส่วนใหญ่ บอกว่าการลอกท่อที่ทำโดยผู้ต้องขังจากกรมราชทัณฑ์คุณภาพดี ประชาชนในชุมชนนำอาหารมาเลี้ยงขอบคุณในการทำงานหนัก และมีคุณภาพ อีกทั้งผู้ต้องขังได้ทำประโยชน์ให้สังคม มีรายได้เพิ่มเข้ามา ได้ลดโทษ อย่างไรก็ตาม การนำผู้ต้องขังมาทำงานนั้น ได้เน้นย้ำในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นนโยบายของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว”
นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีท่อระบายน้ำที่ต้องดำเนินการลอกทำความสะอาดทั้งสิ้น 6,564 กิโลเมตร แบ่งเป็นในส่วนของสำนักการระบายน้ำ ที่ดูแลรับผิดชอบ 2,050 กิโลเมตร และสำนักงานเขต 50 เขต ดูแลรับผิดชอบ 4,514 กิโลเมตร ในปีนี้ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 2,000 กิโลเมตร แต่ในช่วงที่เหลืออีก 4 เดือนของปีงบประมาณ ซึ่งยังมีงบประมาณเหลืออยู่
ทั้งนี้ จากการหารือกับนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ข้อสรุปว่าจะเริ่มดำเนินการได้วันที่ 1 ก.ค. 65 โดยจะดำเนินการให้ได้มากที่สุด และมอบหมายให้แต่ละสำนักงานเขตสำรวจจุดที่เป็นปัญหาน้ำท่วม โดยศึกษาจากระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน ซึ่งเป็นรัฐบาลกับรัฐบาลก็สามารถดำเนินการได้ทันที อีกทั้งในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. ก็เป็นช่วงที่ฝนทิ้งช่วงพอดี จึงสามารถดำเนินการลอกท่อได้เลย
“อยากให้เจ้าของบ้านหรือร้านค้า ออกมาดูด้วยว่าภายในท่อระบายน้ำจะมีไขมันอุดตันอยู่ ซึ่งบ้านเรือนเหล่านั้นอาจทิ้งคราบไขมันลงมา อยากให้เป็นความร่วมมือกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งการติดตั้งบ่อดักไขมัน ลดปัญหาการอุดตัน เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว นับว่าเป็นสิ่งที่ดีในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน”
นายชัชชาติ กล่าว
สำหรับการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เส้นเลือดใหญ่ ดูแลโดยสำนักการระบายน้ำ คือ คลองสายหลักและท่อระบายน้ำหลัก และเส้นเลือดฝอย คือ คลองย่อยและท่อระบายน้ำย่อย ดูแลโดยสำนักงานเขต
“จากฝนตกเมื่อช่วงเย็นวานนี้ (6 มิ.ย.) ก็ไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง นับว่าเป็นการตื่นตัว มีการปรับปรุงเครื่องสูบน้ำ มีการทำงานในเส้นเลือดฝอยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ นับว่าเป็นมิติที่ดี ที่เราได้เจอทุกหน่วยงาน ยกมือไหว้ทุกหน่วย เพื่อขอความร่วมมือ ถ้าทุกคนร่วมใจกัน จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อีกมากมาย ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่จะไปเจอกัน การนำผู้ต้องขังมาทำงานนั้น ได้เน้นย้ำเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้ปฏิบัติตามปกติเหมือนประชาชนทั่วไป ทั้งค่าแรง สวัสดิการ รวมถึงความสมัครใจของผู้ต้องขัง นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดจัดทำคณะกรรมการร่วมภาครัฐ ภาคเอกชน กทม. เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สุดท้ายจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น”
นายชัชชาติ กล่าว
ด้าน นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวขอบคุณผู้ว่าฯ กทม. ที่ให้ความไว้วางใจกรมราชทัณฑ์ในการนำผู้ต้องขังออกมาลอกท่ออีกครั้ง ซึ่งเป็นระยะเวลานานที่กรมราชทัณฑ์ไม่ได้นำผู้ต้องขังออกมาลอกท่อช่วยเหลือประชาชน อย่างไรก็ตาม การลอกท่อเป็นนโยบายของกรมราชทัณฑ์ ที่ให้ความสำคัญกับผู้ต้องขัง โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ การดูแลรักษายามเจ็บป่วย อาหารเครื่องดื่ม
ขณะเดียวกัน การที่ผู้ต้องขังออกมาทำงานลอกท่อ จะเป็นการปรับตัวก่อนพ้นโทษสร้างการยอมรับต่อสังคม อีกทั้งเป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ต้องขังได้เก็บสะสมเงินเมื่อพ้นโทษ ทั้งนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ได้เตรียมผู้ต้องขังไว้ 1,000 คน จาก 10 เรือนจำ พร้อมดำเนินการได้ทันทีในวันที่ 1 ก.ค. นี้ ตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร และนโยบายของ รมว.ยุติธรรม ต่อไป
ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ตามที่กรุงเทพมหานคร เตรียมจ้างผู้ต้องขังมาช่วยเรื่องการลอกท่อระบายน้ำ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นั้น กรมราชทัณฑ์มีความพร้อมให้นักโทษหรือผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ และมีความประพฤติดี ให้ออกมาทำงานบริการด้านนอกเรือนจำได้มีประมาณ 1,000 คน ทั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือที่ดีระหว่างกระทรวงยุติธรรม กับกรุงเทพมหานครที่ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า
อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์ได้สิทธิพิเศษกับการทำงานภาครัฐอยู่แล้ว และราคาไม่ได้แพง เป็นไปตามมาตรฐาน หากไม่มีงบประมาณ ก็จะไปทำให้ก่อนได้
“อย่าห่วงว่า กำลังคนหรือประสิทธิภาพของคนที่จะไปทำงานลอกท่อ จะทำไม่ทัน เว้นแต่ว่าในขณะนี้ผู้ว่าฯ กทม. มาในช่วงปลายปีงบประมาณ งบประมาณในเรื่องของการลอกท่อ คิดว่าคงติดอยู่ในส่วนการจ้างเหมาของบริษัทที่จ้างไว้ก่อนแล้ว และโดยปกติท่อของกรุงเทพฯ มีประมาณ 6,000 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลา 2 ปี คือปีละ 3,000 กิโลเมตร ถ้าในปีงบประมาณหน้า จ้างราชทัณฑ์ทั้งหมดจะต้องใช้เวลาตามที่ได้กล่าวมา แต่เท่าที่ดูมีการจ้างไว้แล้ว จะไปยกเลิก ผู้ว่าฯ กทม.ก็คงจะอึดอัด”
รมว.ยุติธรรม กล่าว
พร้อมเชื่อว่า ถ้ามีความจำเป็นจริงๆ ผู้ว่าฯ กทม. จะจัดการตรงนี้ได้ และย้ำว่าพร้อมที่จะช่วยกันทำเพื่อไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มิ.ย. 65)
Tags: lifestyle, กรมราชทัณฑ์, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, น้ำท่วม, สมศักดิ์ เทพสุทิน