นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง หลังจากแสดงความเห็นวานนี้ (6 มิ.ย.) ว่า ภาคครัวเรือนในญี่ปุ่นเริ่มยอมรับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำความรู้สึกของประชาชนที่กำลังอ่อนไหวต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายเคนจิ คัตซึเบะ สมาชิกสภาจากพรรคฝ่ายค้านของญี่ปุ่นกล่าวว่า คำพูดดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นายคุโรดะไม่เข้าใจความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น
“ความเห็นดังกล่าวเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง” นายโคอิชิ ฮากิอูดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นกล่าวกับสื่อมวลชน
ขณะเดียวกัน ความเห็นของผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่นนั้นยังก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโซเชียลมีเดีย โดยประชาชนจำนวนมากได้ติดแฮชแท็กว่า “เรารับไม่ได้เรื่องราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น” เพื่อถ่ายทอดความคิดเห็นของพวกเขาบนโลกออนไลน์
“เราซื้อของเพราะจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพราะรับได้ที่สินค้าราคาแพงขึ้น ทุกคนล้วนเจ็บปวดจากสินค้าราคาแพง”
ผู้ใช้โซเชียลมีเดียรายหนึ่งกล่าว
ทางด้านนายคุโรดะยอมรับว่า คำพูดของเขานั้นอาจฟังดูไม่เหมาะสม แต่เขาต้องการที่จะสื่อว่าจำเป็นต้องมีการปรับขึ้นค่าแรง เพื่อให้สอดคล้องกับราคาสินค้าที่แพงขึ้นด้วย
“เราไม่ได้ตั้งเป้าเพียงแค่ปรับขึ้นราคาสินค้า แต่ต้องการสร้างวัฏจักรเชิงบวก คือให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับการค่าแรงที่เพิ่มขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง”
นายคุโรดะกล่าว
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานเดือนเม.ย. ของญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้น 2.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 7 ปี และสูงกว่าระดับเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ที่ BOJ กำหนดไว้ โดยหลัก ๆ แล้วเป็นเพราะราคาเชื้อเพลิงและอาหารที่พุ่งสูงขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มิ.ย. 65)
Tags: BOJ, ค่าครองชีพ, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, ฮารุฮิโกะ คุโรดะ, เงินเฟ้อ, โคอิชิ ฮากิอูดะ