น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อเป็นกฎหมายที่รองรับความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรส
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตดังกล่าว ครม.เคยเห็นชอบไปแล้วเมื่อก.ค. 63 แต่ได้มีมติให้กระทรวงยุติธรรม ไปทบทวนความจำเป็นและรับฟังความเห็นให้รอบด้าน ซึ่งได้ผ่านกฤษฎีกาแล้ว จึงนำกลับมาเสนอ ครม.อีกครั้ง และจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึง พ.ร.บ.คู่ชีวิตว่า เป็นกฎหมายใหม่ที่สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะด้านความเสมอภาคทางเพศ และความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามหลักสากล
ทั้งนี้ การหมั้นหรือการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน ส่งผลกระทบต่อกฎหมายเดิมหลายฉบับ ซึ่งต้องมีการปรับแก้ไขเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อกัน เพราะการเป็นครอบครัวส่งผลผูกพันในหลายเรื่อง เช่น มรดก ทรัพย์สิน การเป็นทายาท การอุ้มบุญ การรับบุตรบุญธรรม ตลอดจนมิติสังคม โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมศึกษาได้ละเอียดเรื่องนี้ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ผู้แทนทุกศาสนา ซึ่งได้หารือทั้งหมดแล้วเพื่อปิดทุกจุดอ่อน และถือเป็นกฏหมายที่สร้างสรรรค์สังคมอย่างแท้จริง มีความเป็นสากล จึงเป็นที่มาให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ในวันนี้ และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป
สำหรับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีรายละเอียดดังนี้
– ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …. ให้สิทธิและหน้าที่คู่ชีวิต เช่น 1) หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน 2) อำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา 3) สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน 4) สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม 5) สิทธิและหน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ 6) สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย และ 7) สิทธิจัดการศพ
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. มีดังนี้
1.คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้
2.กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้
3.การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย รวมทั้งกำหนดบุคคลต้องห้ามไม่ให้จดทะเบียนคู่ชีวิต เช่น ทั้งสองคนเป็นญาติสืบสายโลหิตกัน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา เป็นต้น
4.กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล และเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ
5.กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับลักษณะความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต เช่น ต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว และช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน
6.คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป. วิ อาญา)
7.ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต แบ่งเป็นสินส่วนตัวและทรัพย์สินร่วมกัน
8.การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต คู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือการเลิกการเป็นคู่ชีวิต รวมทั้งกำหนดเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต เช่น คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต ประพฤติชั่ว ทำร้าย ทรมานร่างกายหรือจิตใจ จงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี
9.บุตรบุญธรรม เมื่อคู่ชีวิตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. นี้ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้
10.เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยมรดก
– ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี “คู่สมรส” หรือ “คู่ชีวิต” อยู่ไม่ได้
2.กำหนดให้เหตุฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉัน “คู่ชีวิต”
3.ให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต
ทั้งนี้ สิทธิที่เกี่ยวข้องกับการเป็นคู่ชีวิตในกฎหมายฉบับอื่นๆ จะมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป ภายหลังจากร่าง พ.ร.บ.นี้ มีผลบังคับใช้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มิ.ย. 65)
Tags: lifestyle, ประชุมครม., พ.ร.บ.คู่ชีวิต, มติคณะรัฐมนตรี, รัชดา ธนาดิเรก