กระทรวงสื่อสารและกิจการภายในประเทศของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นปรับตัวลง 1.7% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเดือนที่สอง เนื่องจากการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงานได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ทั้งนี้ การใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของครัวเรือนที่มีสมาชิกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปนั้น ลดลง 1.7% สู่ระดับ 304,510 เยน (2,300 ดอลลาร์) ในเดือนเม.ย. หลังจากที่ร่วงลง 2.3% ในเดือนมี.ค.
เมื่อพิจารณาจากหมวดสินค้าพบว่า ภาคครัวเรือนญี่ปุ่นใช้จ่ายด้านการบริโภคอาหารลดลง 2.1% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 3 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการผักผลไม้ชะลอตัวลง ขณะที่ราคาอาหารและเชื้อเพลิงเช่นน้ำมันเบนซิน ต่างก็พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง หลังจากที่รัสเซียใช้กำลังทหารรุกรานยูเครน
เจ้าหน้าที่กระทรวงฯกล่าวว่า “ประชาชนส่วนหนึ่งไม่อยากออกมาจับจ่ายใช้สอยเนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ชะลอตัวลงในเดือนเม.ย.ยังได้รับผลกระทบจากการที่ประชาชนใช้จ่ายเงินน้อยลงในการรับประทานอาหารนอกบ้าน แม้ว่ารัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แล้วก็ตาม
ส่วนการใช้จ่ายด้านการเดินทางและการสื่อสารปรับตัวลง 8.1% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ทรุดตัวลง เนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์ทำให้บรรดาบริษัทรถยนต์พากันลดการผลิต
สำหรับรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนญี่ปุ่นที่มีสมาชิกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ปรับตัวลง 3.5% ในเดือนเม.ย. แตะที่ 539,738 เยน
ทั้งนี้ การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นเป็นมาตรวัดการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มิ.ย. 65)
Tags: GDP, ญี่ปุ่น, ภาคครัวเรือน