ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai COMPASS) มองว่าสถานีบริการน้ำมันมีโอกาสสร้างรายได้เสริมจากการให้บริการชาร์จ EV เนื่องจากมีข้อได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งส่วนมากมักกระจายตามโครงข่ายถนนหลักและถนนรองทั่วประเทศอยู่แล้ว ทั้งยังมีโอกาสลดภาระทางการเงินโดยร่วมลงทุนจุดชาร์จ EV กับพันธมิตรจากธุรกิจอื่น
สถานีชาร์จ EV มีโอกาสเติบโตจากจำนวน EV ที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น รวมไปถึงมาตรการสนับสนุนของภาครัฐในแต่ละประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนสถานีชาร์จ EV ผ่าน BOI ทำให้ปัจจุบัน เริ่มเห็นสถานีชาร์จ EV เกิดขึ้นหลายแห่งในประเทศเทศไทย ซึ่งบางส่วนมาจากสถานีบริการน้ำมันเดิมที่ต่อยอดธุรกิจโดยการเพิ่มจุดชาร์จไฟฟ้า EV เพิ่มเติม ทำให้ Krungthai COMPASS เห็นถึงโอกาสในการลงทุนสถานีชาร์จ EV ของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ EV ที่กำลังมา
ขณะที่มองการแข่งขันในระยะข้างหน้าคาดว่าจะสูงขึ้น หลังจากผู้ประกอบการหลากหลายอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนเองมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้าในที่อยู่อาศัยของผู้ใช้ EV เองอีกด้วย
ปัจจุบันสถานีบริการน้ำมันในไทยเริ่มปรับตัวในการให้บริการชาร์จ EV แล้ว ซึ่ง Krungthai COMPASS ประเมินว่า มูลค่าตลาดสถานีชาร์จ EV ของไทยอยู่ที่ราว 1.3 พันล้านบาท ในปี 64 และจะเติบโตเฉลี่ย 44.5% เป็นราว 8.2 พันล้านบาท ในปี 69 โดยมีแรงหนุนสำคัญจากนโยบายส่งเสริม EV ecosystem ของภาครัฐ การตื่นตัวของภาคเอกชนในการลงทุน และการใช้ EV ของประชาชน
ในด้านความคุ้มค่าการลงทุน หากผู้ประกอบการสนใจจะลงทุนสถานีชาร์จ EV ขนาดเล็ก Krungthai COMPASS ประเมินว่าจะมีระยะเวลาในการคืนทุนเบื้องต้นที่ 2.3-2.8 ปี โดยสมมติฐานให้สถานีมีตู้และระบบชาร์จไฟฟ้าแบบธรรมดา (AC charging) 1 เครื่อง และแบบชาร์จเร็ว (DC charging) 1 เครื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 มิ.ย. 65)
Tags: EV, krungthai COMPASS, KTB, รถยนต์ไฟฟ้า, ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย, สถานีชาร์จรถ EV