ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (6-10 มิ.ย.) ที่ระดับ 34.00-34.70 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อัตราเงินเฟ้อของไทย เดือนพ.ค. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ตลอดจนผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางออสเตรเลีย
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ (CPI) เดือนพ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. (เบื้องต้น) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ตัวเลขการส่งออกและอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของจีน และดัชนี PMI ภาคบริการเดือนพ.ค.ของจีน และอังกฤษด้วยเช่นกัน
โดยในรอบสัปดาห์นี้ (30 พ.ค. – 2 มิ.ย.) เงินบาททยอยปรับตัวอ่อนค่าลง สอดคล้องกับแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค แต่สวนทางเงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น โดยมีแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี ISM ภาคการผลิตเดือนพ.ค. ที่ออกมาดีกว่าที่คาด ขณะที่ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดในระหว่างสัปดาห์ยังคงสะท้อนท่าทีหนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จากที่น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. และก.ค.นี้ เพื่อสกัดแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มจำกัดลงช่วงปลายสัปดาห์ ก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวของตลาดการเงินในประเทศ ประกอบกับนักลงทุนรอติดตามท่าทีต่อเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. แม้จะคาดว่ากนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในการประชุมในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ก็ตาม
ในวันพฤหัสบดีที่ 2 มิ.ย. 65 เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 34.40 ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 34.32 บาท/ดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.15 บาท/ดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (27 พ.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-2 มิ.ย. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 6,078.8 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 3,938.04 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตรเพียง 562.06 ล้านบาท และมีตราสารหนี้หมดอายุ 4,500.10 ล้านบาท)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มิ.ย. 65)
Tags: KBANK, ค่าเงินบาท, ธนาคารกสิกรไทย, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท