เงินบาทเปิด 34.37 อ่อนค่าจากวานนี้ หลังดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขานรับตัวเลขศก.สหรัฐ

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 34.37 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 34.33 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์กลับมาแข็งค่าหลังได้รับปัจจัยหนุนจากตัวเลขข้อมูลการผลิตของสหรัฐออกมาดีเกินคาด และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนเชื่อว่าธนาคารกลาง (เฟด) ยังมีแนวโน้มในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

“บาทอ่อนค่าตามทิศทางตลาดโลก หลังมีปัจจัยหนุนเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ทิศทางบาทช่วงนี้ยังผันผวน” นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 34.30 – 34.50 บาท/ดอลลาร์

ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ระบุว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อยอยู่ในกรอบ ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์จากแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงมาถือสินทรัพย์ปลอดภัย โดยประเมินกรอบเงินบาทวันนี้ไว้ที่ 34.30 – 34.50 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปต่างปิดลบต่อเนื่องจากเมื่อวาน หลังตลาดเกิดความกังวลว่าการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ อาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู้ภาวะถดถอย

THAI BAHT FIX 3M (1 มิ.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.28799% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.50922%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 129.95 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 129.32 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0657 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0724 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 34.333 บาท/ดอลลาร์
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทยสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีก พบว่าปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงจากภาวะค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอและมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐทยอยหมดลง ซึ่งกดดันการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก แม้ว่าผู้บริโภคจะคลายความกังวลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ดูได้จากกิจกรรมนอกบ้านที่มีมากขึ้น
  • สธ.ถกเตรียมพร้อมประกาศโควิดเข้า “โรคประจำถิ่น” รอดูท่าที WHO ก่อนย้ำต้องพิจารณารอบคอบมีหลายขั้นตอน เบื้องต้นเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อฯปรับเป็น “โรคติดต่อเฝ้าระวัง” คล้ายโรคติดต่อทั่วไป ย้ำเปิดสถานบันเทิงผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด วันแรก ต้องเข้มมาตรการป้องกันระบาด เชื่อยอดติดเชื้อเพิ่มขึ้นแน่แต่ไม่รุนแรง หลังเปิด 2-3 สัปดาห์ ให้กก. โรคติดต่อจังหวัดประเมินสถานการณ์ ก่อนผ่อนคลายเพิ่ม
  • องค์การอนามัยโลกเตือน “ฝีดาษลิง” เสี่ยงระบาดสูงในยุโรป-พื้นที่อื่นช่วงฤดูร้อน ชี้การคุมโรค ตอนนี้ต้องลดการแพร่เชื้อคนสู่คนให้ได้มากที่สุดขณะที่ “นอร์เวย์-ฮังการี” พบผู้ป่วยรายแรกขณะที่กรมควบคุมโรคเผยทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงแล้วจำนวน 696 ราย
  • ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจใน 12 เขตของสหรัฐหรือ Beige Book ในวันพุธ (1 มิ.ย.) โดยระบุว่า เศรษฐกิจในเขตส่วนใหญ่ของสหรัฐมีการขยายตัวเล็กน้อยจนถึงปานกลางในช่วงเดือน เม.ย. ถึงปลายเดือน พ.ค. และ มีสัญญาณบางอย่างบ่งชี้ว่านโยบายของเฟดอาจส่งผลให้อุปสงค์ชะลอตัวลง
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยในวันพุธ (1 มิ.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยกดดันตลาด
  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (1 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ รวมทั้งปัจจัยบวกจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
  • นักลงทุนมองว่า ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐจะไม่ทำให้เฟดถอนตัวออกจากวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานอยู่ที่ระดับ 11.4 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งแม้ว่าลดลง 455,000 ตำแหน่ง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูง และบ่งชี้ว่าตัวเลขค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูง ขณะที่บริษัทต่าง ๆ พยายามปรับขึ้นค่าแรงเพื่อดึงดูดพนักงาน ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยของเฟด
  • สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.1 ในเดือน พ.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าดัชนีร่วงลงสู่ระดับ 54.5 จากระดับ 55.4 ในเดือนเม.ย. โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลให้คำสั่งซื้อใหม่ดีดตัวขึ้น
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค.
  • เฟดเริ่มใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ในวันนี้แล้วตามมติในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 4 พ.ค.
  • นักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยในวันนี้จะมีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค.จาก ADP และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ส่วนในวันพรุ่งนี้จะมีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ค.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มิ.ย. 65)

Tags: ,
Back to Top