ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจใน 12 เขตของสหรัฐหรือ Beige Book ในวันพุธ (1 มิ.ย.) โดยระบุว่า เศรษฐกิจในเขตส่วนใหญ่ของสหรัฐมีการขยายตัวเล็กน้อยจนถึงปานกลางในช่วงเดือนเม.ย.ถึงปลายเดือนพ.ค. และมีสัญญาณบางอย่างบ่งชี้ว่านโยบายของเฟดอาจส่งผลให้อุปสงค์ชะลอตัวลง
รายงานยังระบุด้วยว่า ภาคธุรกิจมีมุมมองเชิงบวกน้อยลงเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และมีความกังวลเพิ่มขึ้นว่า เศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนี้ ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า แรงกดดันของเงินเฟ้อหรือภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานจะบรรเทาลงในเร็ว ๆ นี้
“ธุรกิจค้าปลีกชะลอตัวลง เนื่องจากผู้บริโภคเผชิญกับราคาสินค้าที่สูงขึ้น ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยอ่อนแอลงเนื่องจากกลุ่มผู้ซื้อเผชิญกับราคาที่สูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น” เฟดระบุในรายงาน Beige Book ซึ่งทำการสำรวจจนถึงวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา
ในภาพรวมนั้น บริษัทเอกชนรายงานว่าการขาดแคลนแรงงานถือเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุด รองลงมาคือปัญหาห่วงโซ่อุปทาน เงินเฟ้อ รวมทั้งผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เฟดกังวลเช่นกัน
รายงานเฟดระบุว่า บริษัทเอกชนมีความกังวลว่า การดำเนินนโยบายการเงินของเฟดอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งภาคธุรกิจมองว่าตัวเลขค่าแรงพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และการใช้จ่ายก็ปรับตัวสูงขึ้น แม้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงก็ตาม
เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุมเดือนพ.ค. และยังส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมเดือนมิ.ย.และเดือนก.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ รายงานเฟดระบุว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงตึงตัว แม้ว่าบริษัทเอกชนในเขตส่วนใหญ่ปรับขึ้นค่าแรง
สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานอยู่ที่ระดับ 11.4 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งแม้ว่าลดลง 455,000 ตำแหน่ง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูง และบ่งชี้ว่าตัวเลขค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูง ขณะที่บริษัทต่าง ๆ พยายามปรับขึ้นค่าแรงเพื่อดึงดูดพนักงาน
ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยของเฟด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มิ.ย. 65)
Tags: Beige Book, Fed, ธนาคารกลางสหรัฐ, เฟด