นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการรับมอบตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า นโยบายเร่งด่วน คือ การเตรียมการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม ความปลอดภัยทางถนน เรื่องหาบเร่แผงลอย และสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีจะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อมาพูดคุยในรายละเอียดก่อนที่จะไปหารือกับรัฐบาลต่อไป โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการเชิญองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ACT) มาพูดคุยในเรื่องนี้ด้วย
ในส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว คงต้องแยกเรื่องหนี้กับการเดินรถออกจากกัน โดยจะต้องเข้าไปตรวจสอบว่าการที่ กทม.รับโอนหนี้เข้ามามีกระบวนการถูกต้องหรือไม่ มูลค่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และ สภากทม.เห็นชอบหรือไม่อย่างไร และการว่าจ้างเดินรถเป็นปี 85 เพราะเป็นการดำเนินการตาม ม.44 ไม่ใช่ พ.ร.บ.ร่วมทุน ทำให้ไม่มีการแข่งขัน หลังจากมีข้อมูลพร้อมแล้วก็จะหารือกับรมว.มหาดไทยและนายกรัฐมนตรีต่อไป
“เรื่องหนี้ไม่ต้องกังวล เมื่อเทียบกับหนี้รัฐบาลเป็นหลายล้านล้าน ตรงนี้ไม่เยอะ อย่าเอาตรงนี้มาเป็นตัวกดดันประชาชนระยะยาว ไม่ใช่ประชาชนต้องมารับค่าโดยสาร 65 บาท เพราะวิธีแก้หนี้มีอีกหลายวิธี…อาจจะออกบอนด์ก็ได้ ต้องแยกหนี้กับสัปทานออกจากกัน”
นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ ยังได้ฝากให้ข้าราชการช่วยศึกษานโยบาย 214 ข้อและหากเป็นไปได้เพิ่มเป็น 300 ข้อได้ก็น่าจะดี พร้อมยืนยันว่า ไม่กังวลเรื่องงบประมาณของ กทม.ที่มีจำกัด เนื่องจากนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ 214 ข้อ อยู่บนพื้นฐานที่ไม่ได้ใช้เงินมาก ไม่ใช่โครงการเมกะโปรเจ็คต์ หากเรื่องใดที่ไม่ใช้เงินก็สามารถดำเนินการได้ก่อน และยังมีเงินค้างอยู่ในระบบ และมีเงินสะสมของ กทม.หมื่นล้านบาท สามารถนำมาใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนได้
สำหรับยุทธศาสตร์การจัดทำงบประมาณปี 66 จะต้องมีการประเมินจุดคุ้มทุนในโครงการเมกะโปรเจคต์ต่างๆ พัฒนางบไปแต่ละเขตให้มากขึ้น และต้องไปทบทวนโครงการอุโมงค์ระบายน้ำ โรงบำบัดน้ำเสีย หรือ การทำสวนสาธารณะขนาดย่อมว่าจะทำอะไรก่อนหลัง ซึ่งจะเน้นโครงการในรูปแบบเส้นเลือดฝอย
นอกจากการเปิดตัวทีมงานรองผู้ว่าฯกทม.และคณะที่ปรึกษาในวันนี้ นายชัชชาติ กล่าวว่า จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานกลุ่มต่างๆ ทั้งด้านการเมือง และที่ปรึกษาทางเทคนิค อีก 30-40 คน และจะติดต่อไปที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อขอให้มีการเปิดประชุม สภา กทม. เพราะว่างเว้นจากการมีสภา กทม.มา 13 ปีแล้ว
ทั้งนี้ หลังจากแถลงข่าวในวันนี้ ผู้ว่าฯ กทม.จะเริ่มนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ทันที คือ การปลูกป่า 1 ล้านต้นใน 4 ปี โดยช่วงบ่ายจะไปปลูกป่า 100 ต้นที่สวนเบญจกิตติ และช่วงเย็นจะไปร่วมงานความหลากหลายทางเพศที่สามย่านมิตทาวน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาลด้วย
นายชัชชาติ กล่าวว่า วันธรรมดาคงต้องทำงานที่ศาลาว่าการกทม. ส่วนช่วงเสาร์-อาทิตย์ จะมีการลงพื้นที่ เพื่อติดตามความคืบหน้างานต่างๆ เช่น ติดตามการก่อสร้างที่ล่าช้า และหากลงพื้นที่อาจไม่บอกกำหนดการล่วงหน้า ไปไหนขอให้เรียบง่าย พร้อมทั้งขอห้ามขึ้นรูปหรือป้ายต่างๆ และมีนโยบายผู้ว่าฯกทม.สัญจร ภายใน 1 ปีหนึ่งจะลงพื้นที่ให้ครบทุกเขต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 65)
Tags: ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, รถไฟฟ้า, รถไฟฟ้าสายสีเขียว