นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ว่า ประเด็นที่ฝ่ายค้านมีความเป็นห่วงว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามประมาณการที่ตั้งไว้ 2.49 ล้านล้านบาทหรือไม่นั้น ที่ผ่านมาการจัดเก็บรายได้เป็นไปตามทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว การจัดเก็บรายได้ก็จะชะลอลง แต่เมื่อเศรษฐกิจของประเทศขยายตัว การจัดเก็บรายได้ก็จะทำได้มากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ พบว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่สามารถทำได้สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ คือ ปีงบประมาณ 59, 61 และ 62 ส่วนปีอื่นๆ ต่ำกว่าประมาณการ ซึ่งมีเหตุผลที่สามารถชี้แจงได้
โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ 57 – ปัจจุบัน พบว่าการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการในช่วงปีงบ 57, 60, 63 และ 64 โดยในปีงบประมาณ 57 การจัดเก็บรายได้ลดลง 4% เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจากระดับ 30% มาเหลือ 23% ในปี 55 และเหลือ 20% ในปี 56
ส่วนในปีงบ 60 การจัดเก็บรายได้ลดลง เนื่องจากปี 59 มีรายได้พิเศษจากการประมูลคลื่น 4G จึงทำให้ดูเหมือนการจัดเก็บรายได้ในปีงบ 60 ลดลงเมื่อเทียบกับปีงบ 59 ขณะที่ในปีงบ 63 และ 64 การจัดเก็บรายได้ลดลงเพราะไทยเผชิญกับปัญหาการระบาดของโรคโควิด ไทยจำเป็นต้องปิดประเทศไม่มีการรับนักท่องเที่ยว รัฐบาลต้องมีมาตรการลดภาษีต่างๆ รวมถึงขยายเวลาชำระภาษีออกไป เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ ส่งผลให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ลดลง และยังต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ
รมว.คลัง กล่าวว่า สำหรับปีงบ 65 การจัดเก็บรายได้สุทธิล่าสุดช่วง 7 เดือน (ต.ค.64 -เม.ย. 65) อยู่ที่ 1.277 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการราว 45,800 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.7% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีงบ 64 ที่ 4.5% และคาดว่าในช่วง 5 เดือนที่เหลือนี้ รายได้การจัดเก็บภาษี ณ สิ้นปีงบประมาณ 65 จะสามารถทำได้ตามเป้า และอาจสูงกว่าเป้าหมายไม่มาก เนื่องจากมีการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน
อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 65 เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาราคาอาหาร และราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าอาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ไม่ตามที่คาดไว้ แต่หากพิจารณาเรื่องการส่งออกยังสามารถเติบโตได้ดี ทั้งในปี 64 และช่วง 4 เดือนแรกของปี 65 ขณะเดียวกัน ในปี 66 เชื่อว่าจะเริ่มมีรายได้จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้น ตลอดจนมีการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อมาผลิตสินค้ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้ฐานรายได้เพิ่มขึ้น จึงคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 2.49 ล้านล้านบาท
สำหรับการขาดดุลงบประมาณที่ต่อเนื่องมานานหลายปีนั้น รมว.คลัง ยอมรับว่าไม่ได้เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินนโยบายการคลัง ซึ่งสถานการณ์หลังโควิดคลี่คลายนั้น หลายสถาบันเศรษฐกิจโลกต่างเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง จะต้องกลับเข้าสู่ปกติ โดยเฉพาะการรักษาวินัยการเงินการคลังไว้ หรือการรักษาความยั่งยืนทางการคลังไว้ รวมทั้งการใช้จ่ายหรือการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องมองถึงการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และการช่วยเหลือสังคมด้วย
รมว.คลัง ยังกล่าวถึงการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ว่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง ช่วยให้รัฐบาลมีขีดความสามารถในการกู้เงินเพิ่มได้ในยามที่จำเป็น ซึ่งตัวเลขหนี้สาธารณะในปัจจุบัน ณ สิ้นเดือนมี.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 60.58% ต่อจีดีพี แต่หากตัดเงินกู้ที่นำมาใช้ในช่วงโควิดออกไป หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับ 52-55% ต่อจีดีพี
อย่างไรก็ดี รายจ่ายในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้น ทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในช่วงดังกล่าวค่อนข้างมาก มีการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ถึง 179 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการลงทุนเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 65)
Tags: กระทรวงการคลัง, ประชุมสภา, พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ