แม้จะเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 มาตลอดระยะเวลา 2 ปี ทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างซบเซาลง แต่ด้วยประสบการณ์เกือบ 40 ปี ทำให้ บมจ.ฑีฆาก่อสร้าง (TEKA) ยังคงมีกำไรอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันเริ่มเห็นทิศทางของเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หนุนตลาดที่อยู่อาศัยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ส่งผลให้ TEKA มั่นใจว่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งหุ้นน้องใหม่ที่จะได้รับความสนใจจากนักลงทุน
TEKA มีแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 75,000,000 หุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท และนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 15 มิ.ย.65
นายวีระศักดิ์ วานิชวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TEKA เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทก่อตั้งขึ้นในวันที่ 4 ม.ค. 27 เริ่มต้นมาจากธุรกิจเล็ก ๆ คือ การขายวัสดุก่อสร้าง ต่อเนื่องมายังการรับงานต่อเติม ตกแต่ง ก่อสร้าง บ้าน อาคารต่าง ๆ จนในปัจจุบัน สามารถรับงานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ อาคารสูงทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล อาคารเรียน และ หอประชุม เป็นต้น
อุตสาหกรรมก่อสร้างนับว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของไทย หลังจากวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาจะทำให้เศรษฐกิจซบเซาลง แต่ในปัจจุบันถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตามการแข่งขันในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างยังอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งทางบริษัทก็ยังเดินหน้าพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดคุณภาพงานที่ดี สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า
“การแข่งขันในภาวะปัจจุบันถือว่าสูง เพราะว่าเราต้องแข่งกันในด้านคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ปกตินโยบายของเรา เมื่อได้รับงานมาจะรีบตกลงราคากับร้านค้าทั้งหมดตั้งแต่แรกให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 4-5 เดือน ด้านการทำงานเราก็พัฒนาบุคลากร รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ทำให้สามารถส่งมอบงานที่ดี มีคุณภาพให้กับลูกค้าได้ในเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะงานคอนโดมิเนียมของ TEKA ซึ่งนับเป็นงานที่ยาก ต้องการคุณภาพสูง ลูกค้าก็มีความพอใจเป็นอย่างยิ่ง” นายวีระศักดิ์กล่าว
ในช่วงปี 62-63 บริษัทมีรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 2.4 พันล้านบาท แต่ในปี 64 ที่เผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ภาครัฐประกาศมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้าง 1 เดือนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้รายได้ของบริษัทลดลงเหลือเพียง 1.6 พันล้านบาท แต่ด้วยการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ หนุนให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากในปี 63 ที่ 87 ล้านบาท เป็น 126 ล้านบาทในปี 64 เติบโตขึ้นถึง 40% พร้อมทั้งตั้งเป้ารักษาระดับงานในมือ (Backlog) เฉลี่ย 2-2.5 พันล้านบาท/ปี จากปัจจุบันมี Backlog อยู่ที่ 1.6 พันล้านบาท
แผนงานของบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปใช้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ รองรับงานก่อสร้างในอนาคต รวมถึงใช้ในการจัดหา ซ่อมแซม และปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์การก่อสร้างต่าง ๆ อีกด้วย
“ในแง่ของภาพพจน์องค์กร การเข้าระดมทุนครั้งนี้ ก็จะทำให้เรามีความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น แต่โดยพื้นฐานแล้ว TEKA ถึงแม้จะไม่ได้เป็นบริษัทมหาชนก็ได้รับความเชื่อถือจากบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ในประเทศอยู่แล้ว ทั้ง ANAN, SIRI, NOBLE,SC หรืออย่าง AP ก็เป็นลูกค้าสำคัญของเรา และในอนาคต นอกจากจะขยายฐานลูกค้าภาคเอกชน เราจะเดินหน้าประมูลงานภาครัฐ เพื่อขยายโอกาสในการรับงาน
และหุ้นของ TEKA จะเป็นหุ้น Growth Stock มีการเติบโตที่ดี จากการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กำไรของเราเติบโตขึ้น และเรามีนโยบายว่าจะจ่ายเงินปันผล (Dividend Yield) อย่างน้อย 40% ของกำไรให้กับผู้ถือหุ้น และในส่วนของเราที่เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ 75% เราก็มุ่งมั่นที่จะถือระยะยาวต่อไปในอนาคต”
นายวีระศักดิ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 65)
Tags: IPOInsight, TEKA, ฑีฆาก่อสร้าง, วีระศักดิ์ วานิชวัฒน์, หุ้นไทย