ธปท.เผยเศรษฐกิจไทย เม.ย.65 ดีขึ้นจากเดือนก่อนตามบริโภคเอกชน-กังวลโควิดลดลง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.65 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นจากการใช้จ่ายในหมวดบริการ สอดคล้องกับความกังวลต่อการแพร่ระบาดของ Omicron ที่ลดลง ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามหมวดก่อสร้าง สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มเติม

นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน และการทยอยเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว ตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นแต่ยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุล จากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงตามการส่งออกทองคำที่ลดลงเป็นสำคัญ และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลมากขึ้น

ธปท.ระบุว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายหมวดบริการและหมวดสินค้าไม่คงทน สะท้อนถึงความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Omicron ที่น้อยลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงลดลงจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ซึ่งยังเป็นปัจจัยลบต่อการบริโภคภาคเอกชน

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยการลงทุนหมวดก่อสร้างปรับดีขึ้น ตามยอดขายวัสดุก่อสร้างและการขออนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่การลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลง ตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนในเกือบทุกสัญชาติ หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวจากรัสเซียและยุโรปตะวันออกปรับลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยปรับดีขึ้นในหลายหมวด อาทิ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โลหะ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ยางสังเคราะห์ รวมทั้งยานยนต์และชิ้นส่วน อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางสินค้าปรับลดลง โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต และมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ของจีน

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยปรับดีขึ้นในหลายหมวด อาทิ หมวดยางและพลาสติกตามราคายางที่ปรับดีขึ้น หมวดวัสดุก่อสร้างสอดคล้องกับการก่อสร้างของภาคเอกชน รวมทั้งหมวดยานยนต์สอดคล้องกับการส่งออกในหมวดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การผลิตลดลงในบางหมวด อาทิ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ตามปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน ซึ่งถูกซ้ำเติมจากมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 อย่างเข้มงวดของจีน และหมวดอาหารและเครื่องดื่มจากการผลิตน้ำตาลที่น้อยลงเนื่องจากเข้าสู่ช่วงปิดหีบอ้อย

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน จากการนำเข้าปิโตรเลียมที่ลดลงตามการบริหารคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ และการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลง อาทิ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องระบายอากาศ อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับหน่วยงานด้านการศึกษาและด้านคมนาคมทยอยเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวดีตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านโทรคมนาคมเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงเล็กน้อยตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว ตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นแต่ยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุล ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจากการส่งออกทองคำที่ลดลงเป็นสำคัญ และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลมากขึ้นตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังไม่คลี่คลาย รวมทั้งความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอลงส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าลง

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย. ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนมี.ค.ในเกือบทุกองค์ประกอบ มีเพียงการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังทรงตัว เนื่องจากประสบปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต และในส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐ (ที่ไม่รวมเงินโอน) ปรับลดลงบ้าง ซึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อน ประกอบกับหน่วยงานได้ทยอยเบิกจ่ายไปก่อนหน้าแล้ว

ขณะที่ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้น แต่โดยภาพรวมยังคงเปราะบาง ซึ่งต้องติดตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงานอย่างใกล้ชิด ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงบ้าง ตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาพลังงงานและอาหารสด) ยังทรงตัว

ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนเม.ย.65 ที่มียอดขาดดุล 3.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขาดดุลมากสุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่เดือนเม.ย. 56 เป็นผลมาจากการเกินดุลการค้าที่ลดลงในเดือนเม.ย. 65 จากผลของการส่งออกทองคำที่ลดลง และเดือนนี้ไม่ได้เป็นช่วงฤดูกาลส่งออก อีกทั้งยังมีช่วงเทศกาลวันหยุดยาว นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุมาจากตัวเลขการขาดดุลบริการที่มากขึ้น ตามการส่งกลับเงินปันผลและกำไรของบริษัทต่างชาติในไทย

น.ส.ชญาวดี ยังกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ค.65 ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยปรับตัวดีขึ้น จากความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ลดลง รวมทั้งการทยอยเปิดประเทศ อย่างไรก็ดี ต้องติดตามสถานการณ์การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้า, ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top