นายสตีเฟ่น เจมส์ แฮลวิก รักษาการรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรบ มจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค กล่าวว่า การบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ของไทย (PDPA) ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศไทยในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงทางข้อมูลของผู้บริโภค ซึ่งดีแทคสนับสนุนและยินดีปฏิบัติตามอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ธุรกิจ และสังคมส่วนรวม
ทั้งนี้ ดีแทคมีจุดยืนในการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ด้วยหลักการรักษาสิทธิมนุษยชน ดีแทคในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีหน้าที่สำคัญในการเคารพในหลักความเป็นส่วนตัว (Privacy) และเสรีภาพในการแสดงออกสำคัญ (Freedom of Expression) จึงปฏิบัติและดำเนินงานอย่างเคร่งครัด และมีความพร้อมต่อการปฏิบัติตามพ.ร.บ. PDPA โดยได้พัฒนาเป็นนโยบายและแนวทางการทำงาน ตลอดจนบังคับใช้เป็นการภายในมาแล้วกว่า 2 ปี มีการอบรมและสร้างการรับรู้กับพนักงานต่อนโยบายความเป็นส่วนตัวแล้ว 100%
“ความเชื่อมั่นลูกค้าถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินกิจการของดีแทค โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุคแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น AI (ปัญญาประดิษฐ์) IoT (อินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง) และ 5G จะทำให้เกิดและต้องการใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลในการส่งมอบคุณค่าลูกค้า ดังนั้น ความโปร่งใสจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นเกิดขึ้น” นายสตีเฟ่น กล่าว
ดีแทคมีกระบวนการจัดการกับข้อมูลตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูล คือ
1. เก็บรวบรวม จัดเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์และจำเป็นต่อการให้บริการ ทั้งข้อมูลที่ระบุตัวตน งตรง และข้อมูลที่ระบุตัวตนทางอ้อม
2. ใช้ มีการใช้ข้อมูลตรงตามวัตถุประสงค์ที่แจ้ง เพื่อนำเสนอสิทธิประโยชน์สินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุด
3. เปิดเผย เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดูแลคุ้มครองข้อมูลตามที่กฏหมายกำหนด
กระบวนการดังกล่าวอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาล และขั้นตอนการบริหารจัดการ ดังนี้
1. การทำงานเชิงรุก (Proactive approach) ดีแทคมีการวางแนวทางในการใช้ข้อมูลลูกค้าเพื่อให้เป็นไปตามเจตจำนงค์ตามที่ลูกค้าได้อนุญาตผ่าน Privacy Checkpoint ซึ่งเป็นโครงสร้างการทำงานเพื่อควบคุมและลดความเสี่ยงอันเกิดจากการละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกค้าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โดยผู้แสดงความจำนงค์ต้องการใช้ข้อมูลลูกค้า (ตัวอย่างเช่น ทีมพัฒนาแอปพลิเคชัน ทีมบริหารคุณค่าลูกค้า ระเบียบการปฎิบัติการในส่วนต่างๆ) จะต้องแจ้งความจำนงค์มายังเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy Officer: DPO) ของบริษัทเพื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย (Legal basis) และความจำเป็น (Necessity and Proportionality) ของการใช้ข้อมูล นอกจากนี้ ยังต้องมีการประเมินความปลอดภัยข้อมูลทางด้านเทคนิค ซึ่งกำกับโดยทีมเทคโนโลยี จากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและอนุมัติโดยคณะกรรมการ การประเมินผลกระทบด้านการคุ้มครองส่วนบุคคล (DPIA) ของบริษัท
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดโครงสร้างการทำงานของ DPO ให้เป็นอิสระ สามารถรายงานการทำงานแก้คณะผู้บริหาร (Management Committee) ได้โดยตรง เพื่อให้ความคิดเห็นของ DPO คงไว้ซึ่งหลักการความเป็นส่วนตัวและหลีกเลี่ยงผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของ DPO
2. การตรวจสอบ (Investigative approach) เพื่อลดความเสี่ยงการละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูล พนักงานด่านหน้าที่มีเกี่ยวข้องกับข้อมูลลูกค้าจะต้องมีการทำประเมินอย่างสม่ำเสมอ จากนั้นส่งผลการประเมินมายัง DPO นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบรายไตรมาส (Audit) จากทั้งคณะกรรมการภายในและภายนอก เพื่อให้มั่นใจว่ามีการปรับใช้นโยบายสู่แนวปฏิบัติอย่างถูกต้อง
3. การแก้ไข (Corrective action) เมื่อตรวจสอบพบการละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูล DPOมีหน้าที่ในการ ประสานงานผู้เกี่ยวข้อง เพื่อระงับ จัดการประเมิน ความเสียหาย กำหนดแนวทางการแก้ไข รวมถึงถ้าเหตุละเมิดดังกล่าวมีผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูล จะต้องมีการแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคลรับทราบและแก้ไข
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ค. 65)
Tags: DTAC, PDPA, ข้อมูลส่วนบุคคล, ดีแทค, สตีเฟ่น เจมส์ แฮลวิก, โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น