นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี (GDP) อยู่ที่ 60.58% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบที่กำหนดไม่เกิน 70% ดังนี้
1. สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 60.58% จากกรอบที่กำหนด ไม่เกิน 70% โดยหนี้สาธารณะ อยู่ที่ 9.9 ล้านล้านบาท จาก GDP 16.4 ล้านล้านบาท
2. สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ 26.77% จากกรอบที่กำหนด ไม่เกิน 35%
3. สัดส่วนหนี้ฯ ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด 1.79% จากกรอบที่กำหนด ไม่เกิน 10%
4. สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ อยู่ที่ 0.07% จากกรอบที่กำหนด ไม่เกิน 5% โดยที่ภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศ 6,795 .69 ล้านบาท รายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ อยู่ที่ 10,177,826.46 ล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกู้เงิน ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ทำให้ปริมาณหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เป็นผลให้ช่วงเดือนมี.ค.นี้ มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย
ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศและทั่วโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ทำให้ความสามารถในการจัดเก็บรายได้สูงขึ้น ประกอบกับการบริหารความเสี่ยงหนี้ต่างประเทศที่มีต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด และสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้ของการส่งออกและสินค้าอยู่ในระดับต่ำ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ค. 65)
Tags: GDP, ครม., จีดีพี, ธนกร วังบุญคงชนะ, ประชุมครม., หนี้สาธารณะ, เศรษฐกิจไทย