นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีมีผู้เสนอให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม โดยนำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ที่จะมีการประชุมในวันที่ 9-10 มิ.ย.นี้ว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะตามข้อบังคับหากจะเปลี่ยนวาระที่เป็นการพิจารณาข้อกฎหมายจะไม่สามารถพิจารณาในวันเปลี่ยนได้คือต้องพิจารณาในวันต่อไป จึงตกลงกันว่าไม่ต้องไปเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมในวันที่ 9-10 มิ.ย.65 โดยให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจไปทั้ง 2 วัน และจะต้องพยายามพิจารณาให้แล้วเสร็จ หลังจากนั้นสัปดาห์ถัดไปก็จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาต่อ เพื่อนำเรื่องที่ค้างการพิจารณาอยู่มาพิจารณาต่อไป
นายชวน กล่าวว่า เดิมฝ่ายค้านอยากพิจารณาเรื่องร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งก่อนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ แต่บังเอิญการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสร็จไม่ทัน จึงทำให้เสนอมาภายหลังบรรจุร่าง พ.ร.บ.ตำรวจไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องว่าไปตามลำดับ
“การบรรจุระเบียบวาระของกฎหมายหรือญัตติต่างๆ นั้นมีข้อบังคับอยู่ หากใครส่งมาจะต้องบรรจุระเบียบวาระให้ทันที ไม่สามารถให้กฎหมายอื่นเสร็จการพิจารณาภายหลังแล้วแซงขึ้นไปก่อนได้ แต่สมาชิกฯมีสิทธิขอเลื่อนระเบียบวาระได้ เพื่อขอให้พิจารณาในครั้งต่อไป จึงทำให้ความคิดที่จะเปลี่ยนระเบียบวาระประชุมตอนนี้ต้องตกไป” นายชวน กล่าว
ส่วนกรณีที่พรรคฝ่ายค้านประกาศจะลงมติโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในวาระแรกนั้น นายชวน กล่าวว่า การพิจารณาวาระงบประมาณเป็นเรื่องปกติประจำปี ซึ่งปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายของสภาฯชุดนี้ ดังนั้นก็มีการแสดงความเห็นที่เปลี่ยนไปจากปีก่อนๆบ้าง เช่น จะไม่รับร่างฯ หรือโจมตีร่างฯดังกล่าว ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา
แต่ขั้นตอนสุดท้ายคือการลงมติ โดยขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่ให้เห็นว่ามีความผิดปกติไปจากเดิม แต่อาจจะที่เปลี่ยนไปบ้างคือความคิดเห็น ทั้งนี้การให้ทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯล่วงหน้า ซึ่งเราก็ทำกันเป็นประจำ โดยรับเอกสารไปศึกษารายละเอียดล่วงหน้า 10 กว่าวันก่อนจะเข้าสู่วาระการประชุม ไม่เหมือนสมัยก่อน เพราะใช้เวลาเพียงแค่ 7-8 วัน ทำให้ ส.ส.พิจารณารายละเอียดไม่ทัน แต่ครั้งนี้ได้มีโอกาสดูได้เต็มที่ เช่นเดียวกันเพื่อให้รัฐมนตรีและ ส.ส.สามารถศึกษาเพื่ออธิบายชี้แจงได้ในแต่ละเรื่อง ดังนั้นตนคิดว่าคงจะมีโอกาสทำให้เกิดความเข้าใจ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ค. 65)
Tags: ชวน หลีกภัย, ประชุมสภา