ตลอดระยะเวลาที่มีการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยตามกฎหมายนั้นมีผู้ให้บริการหลายรายถูกพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจและต้องดำเนินการคืนทรัพย์สินแก่ลูกค้าหรือซื้อคืนทรัพย์สินของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการภายในกำหนด จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ได้รับผลกระทบจากการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตในแต่ละคราวนั้น ก็คือ นักลงทุนหรือผู้ใช้บริการรายย่อยจำนวนมากที่ต้องบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลของตนต่อไปตามระยะเวลาที่หน่วยงานที่กำกับดูแลหรือผู้ให้บริการนั้น ๆ กำหนดไว้
ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัท หั่วปี้ (ประเทศไทย) จำกัด (Huobi) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ดีเอสแด็ค (ประเทศไทย) จำกัด นั้น นักลงทุนหรือผู้ใช้บริการจะมีระยะเวลา 3 เดือนในการจัดการทรัพย์สินของตัวเองก่อนที่ Huobi จะยุติการให้บริการหรือการสนับสนุนใด ๆ
การบริหารจัดการทรัพย์สินของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการเมื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเลิกกิจการมีสองประเภทหลัก ๆ คือ สินทรัพย์ดิจิทัล กับ เงินตรา (Fiat Currency) ที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ
โดยสินทรัพย์ดิจิทัลหรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า “เหรียญ” นั้น ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการอาจสั่งขาย (ภายในช่วงที่ผู้ประกอบธุรกิจนั้น ๆ ยังเปิดดำเนินการ) มาเป็นเงินตราและโอนเข้าบัญชีธนาคารที่ผูกไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ หรืออาจโอนไปยังประเป๋า (Wallet) หรือผู้ให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ก็ได้
ส่วนเงินตราก็สามารถทำคำสั่งโอนเข้าบัญชีธนาคารที่ผูกไว้กับระบบของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ ก็ได้
แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีผู้หลงลืม หรือไม่ทราบว่าตนเองมีทรัพย์สินอยู่ในความครอบครอง หรืออยู่ในระบบของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เลิกกิจการ จนผู้ให้บริการนั้น ๆ หยุดให้บริการหรือช่วยเหลือไปแล้ว กล่าวคือ ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการไม่ได้มาแจ้งสิทธิหรือความประสงค์กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามกำหนดระยะเวลา ซึ่งโดยปกติหน่วยงานกำกับจะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีการฝากทรัพย์สินไว้ในระบบที่มีความมั่นคงปลอดภัยหากลูกค้าหรือผู้ใช้บริการไม่มารับทรัพย์สินคืนภายในกำหนดระยะเวลาที่กำหนด
ทั้งนี้ ตามกฎหมายแล้วผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องวางทรัพย์สินดังกล่าวไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม และให้ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการติดต่อเอาทรัพย์สินคืนกับสำนักงานวางทรัพย์เองต่อไป
จนถึงปัจจุบันนี้ ยังมีประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องเลิกกิจการ ทั้งที่โดยสมัครใจ หรือโดยคำสั่งของหน่วยงานกำกับดูแล เป็นจำนวนไม่มาก กรณีดังกล่าวจึงอาจเกิดขึ้นไม่มาก แต่ผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคตหากประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเลิกกิจการและต้องนำทรัพย์สินคืนแก่ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการทั้งหมด จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า สำนักงานวางทรัพย์หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องมีบทบาทสำคัญในการเก็บรักษาทรัพย์สินปัญหาดังกล่าวตามกฎหมาย ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องพัฒนาระบบเก็บทรัพย์สินที่มีความมั่นคงปลอดภัย เพื่อเตรียมพร้อมการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต ซึ่งเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของตนต่อไป
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์ (ABER Group)
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ค. 65)
Tags: Cryptocurrency, Decrypto, Huobi, กรมบังคับคดี, กระทรวงยุติธรรม, ดีเอสแด็ค, สินทรัพย์ดิจิทัล, หั่วปี้