นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้กำชับสำนักงานชลประทานและศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงปริมาณ เวลา ผลกระทบ ผู้มีส่วนได้เสีย ความมั่นคงของอาคารชลประทาน และระเบียบกฎหมายข้อบังคับเป็นหลัก เชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำระหว่างสำนักงานชลประทานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำความพร้อมของอาคารชลประทานและระบบโทรมาตรต้องพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งหมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งให้ประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
โดยขณะนี้ (25 พ.ค.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 43,343 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 57% ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 32,742 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,407 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 42% ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 14,464 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 65)
Tags: กนช., กรมชลประทาน, น้ำท่วม, ประพิศ จันทร์มา, อุทกภัย