นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์เช้านี้ว่า คาดว่าจะใช้เวลาราว 1 เดือนน่าจะมีคำตอบเชิงนโยบายในการตรวจสอบกรณีสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตั้งแต่การรับโอนภาระหนี้จากรัฐบาลกลาง การทำสัญญาว่าจ้างเดินรถ และการเจรจาขยายเวลาสัมปทานเพื่อแลกกับภาระหนี้ที่มีต่อ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)
อย่างไรก็ตาม นายชัชชาติ กล่าวว่า ที่จริงแล้วมีแนวคิดว่า กทม.ควรจะโอนงานรถไฟฟ้ากลับไปให้หน่วยงานกลาง คือ กระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้าในปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน และได้ขยายออกไปยังปริมณฑลค่อนข้างมากแล้ว ไม่ได้จำกัดอยู่ภายใน กทม.เท่านั้น
นายชัชชาติ ระบุว่า จะแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยใช้เหตุผลเป็นหลัก ไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึก และมีประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ขณะเดียวกันก็ต้องยุติธรรมกับทาฝั่งเอกชนด้วย
ทั้งนี้ ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวมี 3 ส่วนที่ต้องตรวจสอบ คือ ก่อนแรก การรับโอนหนี้ที่มาพร้อมกับการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดให้ กทม.ดูแล ต้องตรวจสอบขั้นตอนการรับโอนถูกต้องหรือไม่ ผ่านการพิจารณาของสภากทม.หรือไม่ รวมถึงมูลหนี้ที่รับโอนมาเหมาะสมหรือไม่ เพราะโดยส่วนตัวเห็นว่าภาครัฐควรช่วยรับผิดชอบภาระค่าโครงสร้างพื้นฐาน เพราะตัวโครงการบางส่วนอยู่นอกกทม.ทั้งปทุมธานี และสมุทรปราการ
หนี้ก้อนที่ 2 มาจากการทำสัญญาระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัด กทม.ว่าจ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าหลังจากรับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยสัญญากำหนดสิ้นสุดในปี 2585 ถือเป็นหลุมดำใหญ่ เพราะไม่ได้ผ่านพ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน แต่ดำเนินการตาม ม.44 ของคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะที่ตัวสัญญาไม่ได้รับการเปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณชน โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าโฆษณาบนรถไฟฟ้าที่น่าจะนำมาช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นของ กทม.ได้
นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวได้มีผู้ยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบแล้ว หากผลออกมาว่าทำถูกต้องแล้วก็ต้องทำตามสัญญา แต่หากไม่ถูกต้องก็ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง
ส่วนการเจรจาขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ BTS อีก 30 ปีไปถึงปี 2602 เพื่อแลกกับภาระหนี้ทั้งหมด ผ่านพ้นขั้นตอนของกทม.ไปแล้ว และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่เมื่อเข้าไปตรวจสอบแล้วเป็นอย่างไร กทม.ก็น่าจะสามารถให้คำแนะนำกับรัฐบาลได้ และคงจะต้องพิจารณาว่าการกำหนดค่าโดยสารที่ 65 บาทเป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่
ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ทางออกที่ง่ายที่สุดก็คือการนำเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพราะยังมีเวลากว่าจะกำหนดสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2572 เพื่อให้มีคนนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการช่วยพิจารณาให้รอบคอบ และมีการแข่งขันราคาของภาคเอกชน ซึ่งอาจจะทำให้ได้ราคาค่าโดยสารต่ำกว่า 65 บาท และเชื่อว่าแม้จะมีภาระหนี้ของอกทม.พ่วงไปด้วย แต่อาจจะมีภาคเอกชนรายอื่นยินดีรับไป
แล้วอาจจะรวมกับการทำสัญญาว่าจ้างเดินรถฉบับใหม่ หาก ป.ป.ช.เห็นว่าที่ผ่านมาทำไม่ถูกต้อง แต่ถ้า ป.ป.ช.ตัดสินว่าถูกต้องก็คงทำไปตามสัญญานั้น
นายชัชชาติ กล่าวถึงแนวคิดในช่วงหาเสียงเรื่องการโอนสายสีเขียวให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อรวมศูนย์บริหารจัดการกันในจุดเดียว ส่วนกทม.ดูแลเรื่องระบบขนส่งเชื่อมโยงจากบ้านไปถึงรถไฟฟ้าว่า ยังคงมีแนวคิดนี้อยู่ แต่ต้องหารือกับกระทรวงคมนาคมว่ามองอย่างไร โดยเฉพาะในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 2 สาย คือ สายสีเทา และสีเงิน ก็เห็นว่าควรให้ รฟม. เป็นผู้ดำเนินการ เพราะตัดกับรถไฟฟ้าหลายสาย ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องค่าแรกเข้าในภายหลังได้
“กทม. ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องรถไฟฟ้าเลย และเราต้องไปแบกหนี้ ขณะที่ต้องดูเด็กนักเรียน สาธารณสุข อะไรอีกเยอะแยะ ดังนั้น ต้องดูให้ดีว่าเราจะเอาเงินทั้งหมดไปทุ่มกับโครงการรถไฟฟ้าหมด แต่เราต้องมาจ่ายหนี้ ขณะที่มีงบประมาณจำกัดหรือเปล่า ทั้งนี้ ยืนยันว่าทุกอย่างต้องอยู่บนความยุติธรรมกับเอกชน เพราะเขาก็ลงทุนมาให้ แต่ก็ต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้งด้วย”
นายชัชชาติ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 65)
Tags: ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, รถไฟฟ้า, เลือกตั้งผู้ว่ากทม