หลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณเตือนเรื่องวิกฤตอุปทานอาหารโลกที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครน โดยทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรชั้นนำของโลกและส่งออกอาหารให้กับประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่
นายโมฮัมเหม็ด อัล-จาดาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของซาอุดีอาระเบียเชื่อว่า โลกยังไม่ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังมากพอกับปัญหานี้
“ผมคิดว่าประเด็นความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ แต่ประชาคมโลกกลับประเมินวิกฤตการณ์ทางอาหารต่ำเกินไป” นายอัล-จาดานให้สัมภาษณ์กับนางแฮดลีย์ แกมเบิล นักข่าวของซีเอ็นบีซีที่การประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum – WEF) ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
“วิกฤตการณ์ด้านอาหารจะสร้างปัญหามากมาย ไม่ใช่แค่ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ของโลกด้วย โดยภูมิภาค MENA นั้นเผชิญความเสี่ยงอย่างยิ่ง เนื่องจากพึ่งพาการนำเข้าอาหารจำนวนมาก และมีประชากรคิดเป็นสัดส่วนถึง 26% ของโลก”
ขณะนี้การที่รัสเซียรุกรานยูเครนนั้นส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวสาลีและธัญพืชจำนวนมหาศาลที่ประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลางและแอฟริกาต้องพึ่งพา โดยเมื่อรวมกันแล้ว รัสเซียและยูเครนส่งออกข้าวสาลีประมาณ 1 ใน 3 ของโลก, ส่งออกข้าวโพดเกือบ 20% และส่งออกน้ำมันดอกทานตะวัน 80% โดยทั้งสองประเทศเป็นผู้จัดหาอุปทานอาหารส่วนใหญ่ให้กับภูมิภาค MENA
สำหรับสัญญาข้าวสาลีที่ซื้อขายในตลาดล่วงหน้านั้นได้พุ่งขึ้นกว่า 30% แล้ว นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มเปิดปฏิบัติการโจมตียูเครนในช่วงปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 65)
Tags: ยูเครน, รัสเซีย, วิกฤติอาหารโลก, สงคราม, โมฮัมเหม็ด อัล-จาดาน